Header Ads

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 29

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 29 ศึกษาแนวทางเสริมสร้างอาชีพด้วยกาแฟขี้ชะมด และปลูกไม้ดอก ณ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จังหวัดชุมพร น้อมรำลึก 100 ปี กรมหลวงชุมพร

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง  เพื่อเดินหน้าสู่ความเจริญและแข็งแกร่งทัดเทียมนานาอารยประเทศ นับว่าเป็นความสอดคล้องต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ UNSDGs ที่ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อให้บรรลุภายในปี คศ 2030 หรือ พ.ศ. 2573 

โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา มุ่งมั่นเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงครั้งที่ 29 โดยครั้งนี้เป็นการนำครูอาจารย์และผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องการพัฒนาส่งเสริมอาชีพกับกิจกรรมการเลี้ยงชะมด ชมแหล่งผลิตกาแฟขี้ชะมดเพื่อเพิ่มมูลค่ากาแฟสำหรับผู้ที่สนใจเพื่อสร้างอาชีพ จากข้อมูลรายงานตลาดอาหารในประเทศไทย ระบุว่าแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มกาแฟของไทยจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 คาดว่า จะมีมูลค่าตลาด 64,517 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ต่อปี อีกทั้งข้อมูลตลาดกาแฟโลกคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดกาแฟในช่วงปี 2564-2566 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 9%  แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างความเจริญเติบโตในตลาดกาแฟยังมีอยู่อีกมาก เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจสร้างอาชีพเสริมจากกาแฟ  นอกจากนี้ยังพาศึกษาการปลูกดอกหน้าวัว ไม้ดอกที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง ณ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จังหวัดชุมพร ช่วยให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ขยายผลสู่การค้าขาย สร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน พร้อมการเดินศึกษาธรรมชาติ และพืชพันธุ์สันทรายริมทะเล เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่สันทรายที่มีความสมบูรณ์และสูงที่สุดในประเทศไทย  

โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จ. ชุมพร  มีเนื้อที่ประมาณ 488 ไร่เป็นพื้นที่อยู่ติดทะเล มีสภาพเป็นดินทรายชายทะเลที่ถูกคลื่นซัดทับถมเป็นเวลานานจนกลายสภาพเป็นเนินทราย (Sand Dune) กระจายอยู่ทั่วไป และภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จมาเยือนในปี 2541 ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้อนุรักษ์สภาพแวดล้อมเดิมที่มีสภาพเป็นสันทรายป่าชายหาด พัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรโดยการปรับปรุงดินตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาส่งเสริมอาชีพและแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรเนื่องจากมีศักยภาพเหมาะสมทุกด้าน เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาหาความรู้ฝึกปฏิบัติงานจนนำไปประกอบอาชีพได้ (ข้อมูลจากโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จ.ชุมพร)

และเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี สิ้นพระชนม์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ต้นราชสกุล “อาภากร”  ผู้ทรงสถาปนาและวางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือให้กับประเทศไทย ทางโครงการฯ จึงได้จัดพิธีบวงสรวงใหญ่ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ ศาลกรมหลวงชุมพรฯ หาดทรายรี  โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทิพยประกันภัย เป็นประธานในพิธี

ทั้งนี้ ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทิพยประกันภัย มีความยินดีที่ได้สนับสนุนกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา มาตั้งแต่ ปี 2561 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 6 ปี เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ที่ร้อยเรียงเรื่องราวของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของคนไทย ให้ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง ครอบครัว สังคม ก่อให้เกิดความรู้รักสามัคคี กตัญญู รู้คุณต่อแผ่นดิน ซึ่งเราควรต้องดำรงรักษาไว้เพื่อความยั่งยืนของประเทศชาติสืบต่อไป” 

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  “DNA ของทิพยประกันภัย คือสีธงชาติ เรามีความตั้งใจจัดโครงการฯ นี้ขึ้นมาเพื่ออนาคตของชาติไทย เราต้องการสร้างคนดี เพื่อขยายพื้นที่ให้คนดีมาทำกิจกรรมและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ร่วมกัน  การลงพื้นที่และลงมือทำกิจกรรมในโครงการต่างๆ เป็นการเรียนรู้จากสถานที่จริง ซึ่งประเทศไทยเรามีแหล่งเรียนรู้มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการในพระราชดำริ 5,151 โครงการทั่วประเทศ จึงอยากให้ ครูอาจารย์ที่เข้าโครงการได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีและนำไปสอนต่อเยาวชน กิจกรรมของเราเป็นการสอนโดยไม่สอน คือการสอนแบบลงมือทำให้ดู เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และสามารถนำไปใช้กับชีวิตจริงได้”

ด้าน ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเสริมว่า “คุณธรรม 5 ประการสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและไม่เบียดเบียนผู้อื่น ได้แก่ความพอเพียง การมีวินัย ความสุจริต มีจิตอาสา และกตัญญู  คือสิ่งที่ได้นำมาร้อยเรียงในทุกกิจกรรมของโครงการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าใจและนำไปใช้ให้เกิดเป็น “วิถีชีวิต” จะส่งเสริมให้ตนเองได้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปถึงครอบครัวและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ช่วยให้สังคมประเทศชาติเกิดความเจริญก้าวหน้า และพร้อมที่จะก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ UNSDGs  17 ข้อ ภายในปี คศ 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ดังที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเปลี่ยนแปลงอยู่ขณะนี้”




         

 

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.