Header Ads

ซินโครตรอน-สถาบันนิติวิทย์จับมือพัฒนานวัตกรรมตรวจพิสูจน์หลักฐาน

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม สร้างความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการตรวจพิสูจน์ การแลกเปลี่ยนบุคลากร รวมถึงการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและงานนิติวิทยาศาสตร์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและมาตรฐาน เพื่ออำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสังคมให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน

นครราชสีมา - สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาบุคลากรทางนิติวิทยาศาสตร์ เมื่ออังคารวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ณ อาคาร สิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน 

ในมุมของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แสงซินโครตรอน เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่สามารถประยุกต์ใช้ในงานวิชาการ วิจัย และการบริการสหสาขา ทั้งในด้านวัสดุศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ รวมถึงนิติวิทยาศาสตร์ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาใช้ประโยชน์ในงานด้านการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนางานวิชาการด้านนิติวิทยาศาสตร์ การศึกษาวิจัย และนวัตกรรมด้านนิติวิทยาศาสตร์ ที่จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้เพื่อความเป็นเลิศในการให้บริการทางนิติวิทยาศาสตร์และการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ให้มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ สามารถนำไปใช้ในการยืนยันข้อเท็จจริง การอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสังคมให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานมีเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวกับหลักการทางเทคนิคที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และความรู้ในงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างทักษะใหม่ๆ ในการปฏิบัติงานระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน และสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการตรวจพิสูจน์ เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนไปใช้ประโยชน์ในงานนิติวิทยาศาสตร์และการอำนวยความยุติธรรม ตามหลักวิชาการและมาตรฐาน สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับ ทั้งยังสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่หน่วยงานเห็นสมควร จึงนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ 






No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.