Header Ads

กองทัพเรือจัดเสวนาทางวิชาการ “๑๐๐ ปี วันสิ้นพระชนม์ : สืบสานพระปณิธานกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ”

กองทัพเรือจัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “๑๐๐ ปี วันสิ้นพระชนม์ : สืบสานพระปณิธานกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” มีความมุ่งหมายเพื่อ ถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ของชาติ ในยุคที่สยามมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียอธิปไตย โดยอังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นมหาอำนาจในยุคสมัยนั้น ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ที่ สยามถูกบีบบังคับให้ต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องของมหาอำนาจตะวันตก ทำให้เกิดความเสียหายคือ สยามต้องมอบดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง พื้นที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบเขมร และหลวงพระบางให้ฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังต้องมอบ ๔ รัฐในคาบสมุทรมลายา และฝั่งตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรี ให้แก่อังกฤษ รวมถึงการยินยอมให้ชาติตะวันตกมีสิทธิทางศาลเหนือดินแดนไทยเพื่อวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างพลเมืองตะวันตกอีกด้วย 

ทั้งหมดนี้ทำให้สถานะของสยามที่เคยเป็นรัฐทรงอิทธิพลในภูมิภาคถดถอยลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงริเริ่มพระบรมราโชบายการปฏิรูปสยามในเวลานั้นไปสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทูต เศรษฐกิจและสังคม และการศึกษา โดยทรงจ้างชาวตะวันตกเข้ามาเป็นครูถวายการสอนวิชาการต่างๆ ในพระราชสำนักให้แก่พระราชโอรสและพระราชธิดา การจ้างชาวตะวันตกเข้ามารับราชการในตำแหน่งที่สำคัญต่างๆ รวมถึงการที่ทรงริเริ่มตั้งกิจการทหารเรือด้วย โดยทรงสถาปนาสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นแม่ทัพเรือ การพัฒนากิจการทหารเรือระยะแรกเริ่มได้จ้างชาวตะวันตกเข้ามาเป็นทหารเรือแต่การพัฒนากิจการทหารเรือโดยการถ่ายทอดความรู้จากนายทหารตะวันตกที่ว่าจ้างมารับราชการ เป็นไปอย่างล่าช้า กำลังอำนาจทางทะเลไม่ทัดเทียม ไม่เพียงพอ และไม่ทันเวลาสำหรับใช้ถ่วงดุลอำนาจกับกำลังทางเรือของอังกฤษ และฝรั่งเศส ที่กำลังแผ่อิทธิพลเพื่อบีบบังคับรัฐที่ด้อยกว่า เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าในขณะนั้น



การเกิดกรณี ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเรือรบของสยามและป้อมพระจุลจอมเกล้า ไม่สามารถต้านทานเรือรบของฝรั่งเศสได้ สามารถฝ่าแนวป้องกันเข้ามาถึงใจกลางกรุงเทพฯ ได้ บังคับให้สยามต้องยอมมอบดินแดน จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม และเสียสิทธิทางศาลให้แก่ฝรั่งเศส และมหาอำนาจตะวันตกชาติอื่นๆ จึงเป็นความจำเป็นยิ่งยวดที่สยามจะต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ในการป้องกันประเทศทางทะเล 


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงแปรแรงกดดันนี้ไปสู่การริเริ่มการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ทั้งปฏิรูปการปกครอง ปฏิรูประบบกฎหมาย  และด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน โดยหลังกรณี ร.ศ.๑๑๒ ทรงส่งพระราชโอรส และบุตรข้าราชการที่มีสติปัญญาดี ไปศึกษาในทวีปยุโรป ในสาขาวิชาสมัยใหม่ที่เป็นวิชาชั้นสูงหลากหลายสาขา


พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ขณะพระชนมายุ ๑๓ ปี ทรงถูกเลือกให้เป็นผู้นำในการปฏิรูปกิจการทหารเรือ ทรงออกเดินทางไปศึกษาด้านการทหารเรือ ในโรงเรียนสอนพิเศษสำหรับเตรียมเข้าเป็นนักเรียนนายเรือราชนาวีอังกฤษ และในเวลาเดียวกัน รัชกาลที่ ๕ ทรงแต่งตั้งให้เป็นนักเรียนนายเรือคนแรกของสยาม จากนั้นทรงประจำการรับการฝึกในเรือฝึกของราชนาวีอังกฤษ และโรงเรียนอื่นๆ ตามลำดับ ทรงใช้เวลาเพื่อทำการศึกษาวิชาการทหารเรือและวิชาการชั้นสูงที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา ๖ ปี


เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วจึงเสด็จกลับมาปฏิบัติรับราชการในกองทัพเรือสยาม ทรงได้รับพระราชทานยศนายเรือโท (นาวาตรี) พร้อมกับได้รับเฉลิมพระอิสริยยศเป็น “กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ปี พ.ศ.๒๔๔๙ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้มีการวางรากฐานการศึกษา การเรียนการสอน ตำรา ให้แก่ทหารเรือ และในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๐ พ.ย. ๒๔๔๙ ณ พระราชวังเดิม โดยกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นงานที่ยากและหนักหนาสาหัส ด้วยคนไทยที่รู้หนังสือในเวลานั้นมีจำนวนน้อย ทรงกำหนดวิชาการที่สำคัญสำหรับนายทหารเรือ คือ วิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต เราขาคณิต อุทกศาสตร์ และการเดินเรือ ซึ่งวิชาการเหล่านี้เป็นรากฐานทางภูมิปัญญาที่ทำให้ทหารเรือไทยมีฐานความรู้เพียงพอที่จะพัฒนากิจการทหารเรือให้ก้าวหน้าต่อไป โดยไม่ต้องพึ่งพาการจ้างชาวตะวันตกเข้ามาเป็นนายทหารเรือหรือหัวหน้าหน่วย เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างกองทัพเรือยุคใหม่ที่มีความทันสมัย และพึ่งพาตนเองได้


นอกจากนี้ทรงเป็นหัวหน้าคณะไปจัดซื้อเรือในยุโรป เพื่อนำกลับมาประจำการในราชนาวีไทย ชื่อว่า “เรือหลวงพระร่วง” และทรงเป็นผู้บังคับการเรือ และใช้นายทหารเรือสยาม เป็นผู้ควบคุมเรือ โดยมีลูกเรือเป็นชาวต่างชาติ ที่ว่าจ้างให้เป็นกำลังพลประจำเรือ ในการเดินทางกลับสยาม


กล่าวได้ว่า การตั้งโรงเรียนจ่า การตั้งโรงเรียนนายเรือ การกำหนดหลักสูตรโรงเรียนนายเรือ และการขอพระราชทานที่ดินเพื่อตั้งฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นรากฐานทางยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองในการป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้มอบไว้ให้เป็นมรดกแก่กองทัพเรือไทยได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน 


เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในวาระครบรอบวันสิ้นพระชนม์ ๑๐๐ปี พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทางกองทัพเรือโดยกรมยุทธศึกษาทหารเรือได้จัดเสวนาวิชาการเพื่อถอดบทเรียนในอดีตนำมาใช้ประโยชน์ทางการเรียนรู้สู่ยุคปัจจุบัน โดยเรียบเรียงเป็นเทปบันทึกภาพและเสียงไว้ทั้งหมด 3 ตอน ​

ตอนที่ 1 “ประเทศมหาอำนาจ ที่มีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในยุคร่วมสมัยเสด็จเตี่ย” 

ตอนที่ 2 “บทเรียนจากอดีต สู่การพึ่งพาตนเอง”

ตอนที่ 3 “บทเรียนจากอดีต กับการปรับตัวรับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน” 


ซึ่งผู้ชมสามารถติดตามการเสวนาดังกล่าวผ่านช่องยูทูปโดยพิมพ์คำว่า “๑๐๐ ปี วันสิ้นพระชนม์: สืบสานพระปณิธานกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์”  









No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.