นักวิทย์ซินโครตรอนร่วมเวทีเปิดตัวนวัตกรรมลดคาร์บอนพร้อมนำสังคมสู่ Net Zero
นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมเวที Innovator X งานทอล์คสุดยอดนวัตกรทางสถาปัตยกรรม เทคโนโลยี และวัสดุศาสตร์ประจำปี 2023 พร้อมเปิดตัว “กราฟีน” จากขยะ นวัตกรรมหมุนเวียนคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง พร้อมร่วมเสวนาหาทางออกสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างและพัฒนาสังคมสู่ยุค Net Zero
กรุงเทพมหานคร - ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร และ ดร.พัฒนพงศ์ จันทร์พวง หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเทคนิคและวิศวกรรม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน Innovator X งานทอล์คสุดยอดนวัตกรทางสถาปัตยกรรม เทคโนโลยี และวัสดุศาสตร์ประจำปี 2023 ที่จัดขึ้น โดย บจก.วัซซาดุ ทรานส์มีเดีย (Wazzadu.com) ร่วมกับ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (Crystal Design Center) เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 ณ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC) ถนนประดิษฐ์มนูธรรม (เลียบทางด่วน เอกมัย-รามอินทรา) กรุงเทพฯ
ดร.พัฒนพงศ์ จันทร์พวง ได้เปิดตัวเทคโนโลยีผลิต “กราฟีน” จากขยะ ในช่วงของการเสวนา Super Low Carbon Building ซึ่งกราฟีนเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงมากกว่าเหล็ก 200 เท่า เมื่อนำไปผสมกับคอนกรีตเพียง 0.1% จะเพิ่มความแข็งแรงให้คอนกรีตได้ถึง 35% ทั้งนี้คอนกรีตซึ่งเป็นวัสดุหลักในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกซไซด์ ให้โลกสูงถึง 39% ดังนั้นเทคโนโลยีการผลิตกราฟีนจากขยะนี้นับเป็นนวัตกรรมการนำคาร์บอนซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของขยะกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาคอนกรีตคาร์บอนต่ำ เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้
ส่วน ดร.ศรายุทธ ตั้นมี ได้ร่วมเสวนา “Move Forward to New Era Net Zero” เพื่อหาคำตอบว่าอุตสาหกรรมการออกแบบและพัฒนาสังคมในยุค “Net Zero” จะไปต่ออย่างไร? และได้กล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “หากนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ หรือ วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีซินโครตรอนมาช่วยในการตอบโจทย์งานวิจัยเชิงลึกในวงการวัสดุศาสตร์ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้น"
“ประเทศของเรายังต้องการนวัตกรอีกมากเพื่อมาช่วยสานต่อในการสร้างสรรค์ผลงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัสดุก่อสร้างและอื่น ๆ รวมถึงการร่วมพัฒนาด้านบุคลากร เมื่อนักวิจัยมีการเปลี่ยนตัวเองสู่นักธุรกิจ หรือนักวิจัยเปลี่ยนตัวเองไปเป็นสถาปนิก เมื่อ 3 ศาสตร์มารวมกัน จะทำให้เกิดนวัตกรที่มีความรู้ทั้งงานวิจัย การออกแบบ และธุรกิจร่วมกัน สุดท้ายเรามีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างความตระหนักและตั้งเป้าหมายการไปสู่การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ “Net Zero” ของวงการวัสดุและอุตสาหกรรมก่อสร้างในอนาคต” ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าว
No comments