สกสว. จับมือ TCI และ Scopus ร่วมผลักดันคุณภาพวารสารวิชาการไทยก้าวสู่มาตรฐานและการยอมรับระดับสากล
26 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) จัดการประชุมในหัวข้อ “นโยบาย ผลสัมฤทธิ์ และการมอบรางวัลแก่วารสารในโครงการ TCI-TSRI-Scopus Collaboration Project” เพื่อประชาสัมพันธ์วัตถุประสงค์ความเป็นมา และผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน รวมถึงชี้แจงนโยบายส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยในอนาคต และกิจกรรมมอบรางวัลให้แก่วารสารที่มีผลผลิตและการดำเนินงานอย่างโดดเด่น โดยมีบรรณาธิการ และกองบรรณาธิการวารสารของไทย จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมงาน
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปฏิรูปและขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการ ซึ่งถือเป็นเรื่องระดับชาติ กิจกรรมในครั้งนี้จึงถือเป็นการยืนยันให้เห็นชัดเจนว่าสิ่งที่ทุกหน่วยงานร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินงานนั้นประสบความสำเร็จ ทั้งเป้าหมายของผู้ดำเนินการ คือ ศูนย์ TCI เป้าหมายของกองบรรณาธิการผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเผยแพร่ผลงานวารสารวิชาการ และเป้าหมายระดับประเทศนั้นสอดคล้องตรงกันที่จะส่งเสริมให้มีระบบสนับสนุนการทำวิจัยของไทยให้ได้การรับรองตามมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในเวทีวิชาการระดับสากล
.
ในอดีตที่ผ่านมา (ปี 2548 - 2560) การเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในระดับนานาชาติ มีจำนวนวารสารไทยอยู่ในฐานข้อมูล Scopus เพียง 28 วารสาร (Scopus คือฐานข้อมูลสากลที่รวบรวมวารสารจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 27,950 รายการ และเป็นฐานข้อมูลหลักที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก) จากสถิติพบว่า Scopus ใช้เวลาในการพิจารณาวารสารไทยเข้าฐานข้อมูลเฉลี่ย 16 เดือน ต่อวารสาร และอัตราการรับวารสารไทยเข้าฐานข้อมูลนี้อยู่ที่ 23% เท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่าวารสารไทยที่ได้รับการบรรจุใน Scopus ยังมี Journal Quartile อยู่ในระดับต่ำ (Quartile คือ รูปแบบการประเมิน และจัดอันดับวารสารวิชาการ) วารสารส่วนใหญ่อยู่ใน Quartile 4 หรือไม่มี Quartile และไม่มีวารสารไทยอยู่ใน Quartile 1
.
จึงเกิดเป็นความร่วมมือร่วมกันระหว่าง สกสว. ศูนย์ TCI มจธ. และเนคเทค สวทช. ดำเนินโครงการการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิต/การอ้างอิงของผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยสู่ฐานข้อมูลสากล เพื่อพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทยให้มีมาตรฐานสากล และผลักดันให้ได้รับการบรรจุเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus โดยวิธีพิเศษ ช่วยลดขั้นตอน และระยะเวลาในการพิจารณาวารสารไทยเข้าฐานข้อมูล โดยมีเป้าหมายที่จะนําวารสารไทยจํานวน 40 รายการ เข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ภายในปี 2560-2563 ซึ่งศูนย์ TCI ร่วมกับบรรณาธิการวารสารในการพัฒนาคุณภาพวารสารแต่ละรายการ จนสามารถได้รับการบรรจุเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ได้ทั้งหมด 40 รายการ โดยมีอัตราการตอบรับ (acceptance rate) เท่ากับ 100 % รวมทั้งยังสามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาคุณภาพวารสารไทยเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus โดยเฉลี่ยเท่ากับ 24 วัน ต่อวารสาร นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีจำนวนวารสารไทยในฐาน Scopus เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อพัฒนาคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus ให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น สกสว. ได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในโครงการการพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus ในปี 2563-2565 เพื่อพัฒนาคุณภาพวารสาร และคุณภาพบทความของนักวิชาการไทยในวารสารไทย ทั้งในเชิงการบริหารจัดการและเชิงคุณภาพ รวมทั้งยกระดับ Journal Quartile ของวารสารไทยให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น
.
ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดการดำเนินงานทั้งสองโครงการ คือ
- จำนวนผลงานวิจัยในรูปแบบบทความประเภท article and review ของประเทศไทยระหว่างปี 2560-2564 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึง 101% เมื่อเทียบกับ 37% ในช่วง 5 ปีก่อนมีโครงการ
- เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนบทความใน Scopus เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าจำนวนบทความของประเทศสิงคโปร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน
- หากพิจารณาเฉพาะบทความไทยที่ปรากฎในวารสารไทย พบว่ามีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบทความที่ปรากฏในวารสารที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนปีละมากกว่า 2,200 บทความ ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยในระดับโลก
- ในด้านคุณภาพ พบว่าบทความในวารสารไทยมีคุณภาพสูงขึ้น โดยพิจารณาจาก journal quartile ที่สูงขึ้น มีวารสารไทยที่อยู่ใน Quartile 1 จำนวน 2 รายการ Quartile 2 จำนวน 7 รายการ Quartile 3 จำนวน 13 รายการ และ Quartile 4 จำนวน 24 รายการ ตามลำดับ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ Journal Quartile นี้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพที่สูงขึ้นของบทความวิชาการไทยบนเวทีโลกได้อย่างชัดเจน
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. ได้กล่าวเสริมถึงบทบาทในฐานะที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับศูนย์ TCI ในการยกระดับคุณภาพวารสารวิชาการ ตั้งแต่ปี 2558 ที่ได้เข้ามาช่วยพัฒนาระบบเบื้องหลัง คือ Thai Journals Online (ThaiJO: https://www.tci-thaijo.org/) ซึ่งเป็นระบบการจัดการและตีพิมพ์วารสารวิชาการในรูปแบบวารสารออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Journal) ทำให้จากเดิมที่ยังเป็น Hard Copy ซึ่งมีวารสารอยู่ในระบบประมาณ 250 วารสาร เพิ่มขึ้นมาในปัจจุบันถึง 1,270 วารสาร มีเอกสารเผยแพร่ในระบบมากกว่า 23,500 เล่ม บทความ 231,139 บทความ ผู้แต่งที่ลงทะเบียน 550,873 คน และยอดการใช้งานมากกว่า 1,000,000 ครั้งต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเนคเทคได้เข้ามาช่วยพพัฒนาระบบ Fast Track ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กระบวนการรวดเร็ว ระบบค้นหาผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการมาช่วยเป็น Reviewer ที่มีคุณภาพ พร้อมยืนยันว่า เนคเทคจะเป็นเครื่องจักรสำคัญ เป็นฐานรากทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงให้กับทุกหน่วยงานที่สนใจทำเรื่องดิจิทัลโซลูชัน
.
นอกจากนี้ภายในงาน ยังจัดพิธีมอบรางวัลให้แก่วารสารที่มีผลผลิตและการดำเนินงานโดดเด่น ในช่วงระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 3 ประเภท มูลค่ารางวัลละ 300,000 บาท วาสรสารที่ได้รับรางวัล ได้แก่
รางวัล Most Improved Percentile Award
เป็นวารสารที่อยู่ใน Q1 และ Q2 และเป็นวารสารที่มีอัตราการเติบโต ของ Percentile แบบก้าวกระโดดในสาขาวิชาของวารสาร ได้แก่
ABAC Journal
Owner: Assumption University
Editor-in-Chief: Dr.Absorn Meesing
Journal of Population and Social Studies
Owner: Mahidol University
Editor-in-Chief: Prof.Dr.Churnrurtai Kanchanachitra
rEFLections
Owner: King Mongkut's University of Technology Thonburi
Editor-in-Chief: Asst.Prof.Thanis Tangkitjaroenkun
รางวัล High Citation Award
เป็นวารสารที่มีค่า Citation ใน 3 metrics ของปี 2021-2022 อยู่ในระดับสูง 3 metrics ได้แก่ Citations per Publication, FWCI และ Number of Citing Countries ได้แก่
Applied Science and Engineering Progress
Owner: King Mongkut's University of Technology North Bangkok
Editor-in-Chief: Prof.Dr.Suchart Siengchin
Environment and Natural Resources Journal
Owner: Mahidol University
Editor-in-Chief: Assoc.Prof.Dr.Benjaphorn Prapagdee
Current Applied Science and Technology
Owner: King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang
Editor-in-Chief: Assoc.Prof.Dr.Dusanee Thanaboripat
รางวัล TCI Popularity Award
เป็นผล Popular Vote จากทีมงาน TCI โดยเน้น Participation,Communication และ Collaboration ของ Chief Editor
Thai Journal of Obstetrics and Gynaecology
Owner: The Royal Thai College of Obstetricians and Gynaecologists
Editor-in-Chief: Prof.Dr.Vorapong Phupong
Trends in Sciences
Owner: Walailak University
Editor-in-Chief: Assoc.Prof.Dr.Phongpichit Channuie
No comments