เจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 เฝ้าระวังความปลอดภัย ตรวจสอบผู้ให้บริการทางน้ำในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเข้มปฏิบัติตามกฎหมาย
สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 ลุยแผนปฏิบัติการเชิงรุก อบรม “เครือข่ายอาสาวารี” ภาคประชาชน ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เพิ่มทักษะด้านความปลอดภัย เร่งตรวจสอบผู้ให้บริการทางท่องเที่ยวทางน้ำ ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายกรมเจ้าท่า พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ให้บริการ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว ป้องกันอุบัติเหตุ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 (หนองคาย) (จภ.7) ประกอบด้วยสาขาขอนแก่น,หนองคาย,อุบลราชธานี,นครราชสีมาและนครพนม มีพื้นที่ขอบเขต และหน้าที่ในการกำกับดูแล รับผิดชอบครอบคลุม 20 จังหวัดในพื้นที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย, จังหวัดเลย, จังหวัดอุดรธานี, จังหวัดสกลนคร,จังหวัดนครพนม,
จังหวัดหนองบัวลำภู, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดมหาสารคราม, จังหวัดกาฬสินธุ์, จังหวัดมุกดาหาร, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดบุรีรัมย์, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดศรีษะเกศ, จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดยโสธร, จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อกำกับดูแลพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน กฎหมาย
ว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี กฎหมายว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าท่า
โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 ได้จัดทำแผนปฏิบัติการกำกับดูแลพื้นที่สาขา มุ่งเน้นมาตรการความปลอดภัย โดยวางระบบการตรวจสอบและคุมเข้มในเรื่องการบริการ การป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการขนส่งทางน้ำ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท่าเทียบเรือโดยสารและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนลำปาว ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
จภ.7 (ขก.) ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายกรมเจ้าท่า รวมทั้งรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี พร้อมด้วยผู้แทนโครงการชลประทานลำปาว, เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลำปาวและผู้เกี่ยวข้อง
ร่วมหารือกับผู้ประกอบการในเขื่อนลำปาว เกี่ยวการจัดอบรมเพื่อขอรับใบประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ ในบริเวณเขื่อนลำปาว รวมถึง
การกำหนดมาตการควบคุมเสียง จำนวนแพ เรือ ที่ให้บริการในเขื่อนลำปาว เป็นต้น โดยมีการจัดทำแผน ZONING กิจกรรมทางน้ำ
ในบริเวณเขื่อนเพื่อควบคุมความปลอดภัยของกิจกรรมทางน้ำ สนับสนุนการท่องเที่ยว และได้นำเสนอเรื่องให้จังหวัดกาฬสินธุ์พิจารณาจัดตั้งคณะทำงานจัดระเบียบพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำลำปาว เพื่อให้ผู้ประกอบการแพ เพื่อการท่องเที่ยว ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการตรวจตราสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในแม่น้ำสายหลัก เช่น แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ได้รับความนิยมจำนวนมากนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ จภ.7 ได้จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในองค์กรและประชาชนทั่วไป ภายใต้โครงการ “เครือข่ายอาสาวารี” เพื่อสร้างองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางน้ำ อาทิ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเฝ้าระวัง
การเกิดอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้เรือและท่าเทียบเรือ การกระทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและผู้ละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการเดินเรือ เป็นต้น
ทั้งนี้ จภ.7 ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ประจำการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงการตรวจสอบใบอนุญาตต่างๆ ของผู้ควบคุมเรือ เพราะที่ผ่านมาพบว่าบางคน ยังไม่มีใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาและทำความเข้าใจกับเจ้าของเรือทุกลำ ต้องมีการรับรองจากกรมเจ้าท่า ไม่ว่าจะเป็น ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเครื่องจักร ใบอนุญาตใช้เรือ และอุปกรณ์ประจำเรือในการโดยสารทางน้ำ เช่น แพชูชีพ พวงชูชีพ เสื้อชูชีพ ให้มีสภาพและพร้อมใช้งาน
พบเห็นความไม่ปลอดภัยทางน้ำ สามารถแจ้งสายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง
No comments