ซินโครตรอนส่งกราฟีน-กาแฟงานวิจัยบนฐาน BCG ร่วมงาน Research Expo 2023
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ส่งผลงานวิจัยบนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ร่วมแสดงภายในงาน Research Expo 2023 ชู 2 ผลงานเด่น “กราฟีนจากขยะ” หมุนเวียนคาร์บอนสู่วัสดุกราฟีน ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ และ “การพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟอราบิก้าไทยด้วยแสงซินโครตรอน” สู่ตลาดกาแฟชนิดพิเศษ เพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร
กรุงเทพมหานคร - สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนส่งผลงานวิจัยบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) จำนวน 9 ผลงาน เพื่อร่วมจัดแสดงภายในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้ส่งผลงานร่วมแสดงใน ส่วน “งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG” โดยมีผลงานเด่น ได้แก่ ผลงานกราฟีนจากขยะ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่นำขยะมาผลิตเป็นกราฟีน ด้วยระบบสังเคราะห์กราฟีนด้วยการให้ความร้อนฉับพลัน โดยเลือกขยะที่มีไฮโดรคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ขวดน้ำเกลือ ขวดพลาสติก ยางรถยนต์ กาบมะพร้าว ซังข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งช่วยลดการเผาขยะชีวมวล ช่วยจัดการขยะ และหมุนเวียนคาร์บอนกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น นำกราฟีนไปผสมคอนกรีตเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้”
“อีกผลงานเด่นคือการพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟอราบิก้าไทย เพื่อให้เป็นกาแฟที่มีกลิ่นและรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์ โดยมุ่งเน้นการขายในตลาดกาแฟชนิดพิเศษ (Specialty) ที่มีมูลค่าการซื้อขายในตลาดสูง อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ นักวิจัยของสถาบันฯ ใช้เทคนิควิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนที่ให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดเชิงเคมีและเชิงโครงสร้างภายในเมล็ดกาแฟที่มีความแม่นยำสูง ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกระบวนการเตรียมเมล็ดกาแฟให้มีคุณภาพระดับพรีเมียม” ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าว
นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ของสถาบันฯ ได้แก่ การพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชรสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารแบบยั่งยืน, การศึกษาผลของพรีไบโอติกจากใบผักโมโรเฮยะ ต่อการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องปากด้วย ซึ่งพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันที่จัดจำหน่ายในท้องตลาด, การตรวจวิเคราะห์โครงสร้างและคุณภาพของโลชั่นมามาคาระ (Mama Kara) และยืนยันถึงประสิทธิภาพความสามารถของโลชั่นในการเสริมเกราะป้องกันผิว, การศึกษาเปปไทด์สายสั้น “โคคูมิ” ที่ช่วยส่งเสริมให้รสชาติและกลิ่นรสต่างๆ ในอาหารเกิดความกลมกล่อม เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสารปรุงสำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ช่วยลดปริมาณผงชูรสและเกลือแต่คงรสชาติอร่อยไว้ได้, การพัฒนาวัสดุขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดใหม่จากขวดแก้วเหลือทิ้ง, การศึกษาโภชนาการในข้าวดอยเพื่อพัฒนาสู่ Super Food และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวไทยอบกรอบให้มีเส้นใยอาหารสูงและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
No comments