สสส. ร่วม สคล. เคลื่อน “พลังสาวพักตับ สร้างสุข สร้างเศรษฐกิจ ชีวิตดี”
สสส. ร่วม สคล. เคลื่อน “พลังสาวพักตับ สร้างสุข สร้างเศรษฐกิจ ชีวิตดี” จ.ตรัง ช่วยคนในครอบครัว ชุมชนสังคม เลิกเหล้า จากพลังความรักความห่วงใยของคนในครอบครัวเป็นพื้นฐาน พร้อมเยี่ยมชมห้องเรียนวิชาชีพ “เปลี่ยนคนสูบ เป็นครูสอนตัดผมมืออาชีพ” ร้านตัดผมปลอดควันบุหรี่
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรม “พลังสาวพักตับ สร้างสุข สร้างเศรษฐกิจ ชีวิตดี” โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาข้าวเสีย พร้อมด้วยเครือข่ายสาวพักตับให้การต้อนรับ จำนวนกว่า 100 คน รวมพลังชุมชนในการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อสร้างเศรษฐกิจดี ชีวิตดีให้ครอบครัว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวว่า สสส.ทำงานขับเคลื่อนเลิกแอลกอฮอล์ มาตั้งแต่ปี 2546 ได้พยายามขับเคลื่อนงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาทโดยทำให้เกิดรูปธรรมในพื้นที่มากกว่าการสื่อสารผ่านโทรทัศน์หรือการโฆษณา เริ่มจากปี -2558 ภาคีเครือข่ายมีการสำรวจรพื้นที่ค้นหาตำบลที่มีต้นทุนในการดำเนินงานหรือพื้นที่ที่เหมาะสมในการร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่แรก ๆ ที่เชื่อมั่นว่าถ้าชุมชนลุกขึ้นมาทำกันอย่างจริงจังในระดับครอบครัวสู่ระดับชุมชนและตำบล เราจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน โดยใช้สารพัดกลวิธีในการเชิญชวนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น อบต. รพสต. ทำต่อเนื่องมาโดยตลอด มีคนร่วมรณรงค์งดเหล้าเพิ่มขึ้น และเกิดเป็นรูปธรรมที่สามารถขยายผลในพื้นที่ต่างๆทั่วทุกภูมิภาค
“จากข้อมูลตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง พบว่า " จากการรายงานข้อมูลภาษีสรรพสามิต จากปีละประมาณ 800,000 บาท ของอำเภอนาโยงในปี 2558 พื้นที่ได้ริเริ่มโครงการสาวพักตับ พบว่า ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 400,000 บาท ซึ่งลดลงไปกว่าครึ่ง ขณะเดียวกันการร่วมรณรงค์ทั่วประเทศมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้น ในปี 2565 ผลสำรวจการณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่ามีผู้เข้าร่วมและงดการดื่ม ตลอด 3 เดือนเต็ม มากถึงร้อยละ 36.8 สสส. ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ที่มีเพียงร้อยละ 30.3 ของผู้เข้าร่วมทั้งหมด ปัจจุบันการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามีเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น การลดละเลิก 3 เดือน (คนหัวใจหิน) หรือถึงขั้นเลิกตลอดชีวิต (คนหัวใจเพชร) และสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่เลิกได้คือ เรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิตที่ดี ความสัมพันธ์ดี และมีความสุข" นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางอารี ขวัญศรีสุทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการรณรรงค์เรื่องงดเหล้านี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ที่ทางตำบลได้รับประสานงานมาจาก นางไพรัช วัฒนกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตรัง ให้จัดกิจกรรมรณรงค์ จึงมอบหมายให้ เจ้าหน้าที่ อบต. เป็นผู้ประสานเชิญชวน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษาโดยเริ่มจาก หมู่ 4 ตำบลนาข้าวเสีย เป็นแห่งแรกมีแกนนำ 5 คน และขยายไปยังหมู่บ้านอื่นต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2560 ได้ขยายโครงการจนครบทั้ง 10 หมู่บ้าน มีแกนนำ 50 คน โดยใช้ชื่อชื่อแกนนำ “สาวพักตับ” และใช้กระบวนการ “ชวน ช่วย ชม เชียร์” กล่าวคือ คือนอกจากจะชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษาแล้วยังได้ชวนคนในครอบครัวงดเหล้าเข้าพรรษาด้วย จึงได้เกิดเป็นที่มีของคำว่า “คู่รัก พักตับ” กระทั่งปี 2562 ได้ก่อตั้ง ชมรมคนหัวใจเพชร “บ่าวเลิกเหล้า สาวพักตับ” ที่มีแกนนำเป็นผู้ชายเข้าร่วมด้วย ซึ่งนอกจากการรณรงค์ในช่วงเข้าพรรษา สาวพักตับ ยังได้รณรงค์การงดเหล้าในงานบุญประเพณีและเทศกาลต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ทั้งในชุมชนและนอกชุมชน เช่น งานกฐิน งานผ้าป่า งานบุญเดือนสิบ เทศกาลชักพระ งานกาชาด เป็นต้น
“จากที่ทำงานรณรงค์มามีกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากคือ คู่สามี ภรรยาของนายณรงศักดิ์ และ นางญาณี สงสุวรรณ์ ซึ่งตัวภรรยาเป็นแกนนำสาวพักตับ ได้ทำงานร่วมชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษาและรณรงค์ ในพื้นที่มาตั้งแต่แรก ส่วนสามีจะเป็นคนที่ดื่มเหล้า เวลาเมาจะทะเลาะกันตลอด รุนแรงถึงขนาดใช้ความรุนแรง ซึ่งชาวบ้านก็เห็นมาโดยตลอด จนวันหนึ่งได้ยินชาวบ้านพูดว่า ทำไมชวนคนอื่นงดเหล้าได้ แต่ไม่เคยชวนสามีตัวเองได้เลย จึงมีความคิดที่จะชวนสามีเลิกเหล้า ขณะที่ตอนนั้นสามีก็มักหึงหวง เวลาที่ภรรยาออกไปชวนคนงดเหล้าหรือออกไปรณรงค์ในชุมชน ก็จะทะเลาะกันทุกครั้ง นางญาณี จึงตัดสินใจพาสามีไปร่วมกิจกรรมด้วย ทุกครั้ง จนสามีเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา และปัจจุบันเลิกเหล้ามาได้ 2 ปีกว่าแล้ว และกำลังจะเป็นแกนนำ “คนหัวใจเพชร” ที่ชวนคนเลิกเหล้าตาม นางญาณี บอกว่า เหมือนได้สามีใหม่ ครอบครัวมีความสุข ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ทำขนมขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทำให้เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” นางอารี กล่าว
นางวัลยา ช่วยสงค์ แกนนำสาวพักตับ ชวนลูกวัยรุ่นเลิกเหล้า กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ คือ เมื่อครั้งไปถวายเทียนพรรษาที่วัด แล้วได้เห็นทางเครือข่ายสาวพักตับเข้ามาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการในการชวนให้คนเลิกดื่มเหล้า และหาอาสาสมัครเข้าร่วม ซึ่งตนเองก็กำลังอยากหากิจกรรมสร้างสรรค์ทำกับชุมชนอยู่พอดี จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เนื่องจากเมื่อก่อนที่บ้านมีสามีวัย 45 ปี ดื่มเหล้าค่อนข้างหนัก และขณะนั้นลูกชายกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เริ่มดื่มแอลกอฮอล์ตามเพื่อน เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากชวนสามีและลูกเลิกดื่มเหล้า เพราะเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ แม้ว่าทุกคนจะร่างกายแข็งแรงดี แต่ก็ไม่อยากให้เกิดการเจ็บป่วยจากการดื่มเหล้าสะสมเป็นเวลานาน โดยใช้วิธีการ คือ พาทั้งสามีและลูกมาร่วมกิจกรรมโครงการด้วยกัน จนได้เห็นและเกิดการเรียนรู้ถึงผลกระทบที่ส่งผลปัญหาให้กับคนในชุมชน ทำให้สามีหันกลับมาดูแลตัวเองและหาวิธีในการลด ละ เลิกดื่มได้สำเร็จ สิ่งที่ประทับใจคือ สามีของเธอได้ให้คำสัญญาว่าจะเลิกเหล้าตลอดชีวิต
"สามีดื่มมาตั้งแต่อายุ 18 จนถึงอายุ 42 ปี เราอยากให้เขาเลิกเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ก็เลยพูดชวนเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย เริ่มจากงดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือนก่อน ไม่มีหลุดเลย จากนั้นเขาก็บอกว่าจะเลิกตลอดชีวิต ก็ดีใจมากที่สามีเป็นคนใหม่ ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น มีรายได้และเงินเก็บออม เพราะทั้งลูกทั้งสามีไม่ดื่มเลย" นางวัลยา กล่าว
จากนั้นได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมห้องเรียนวิชาชีพ “เปลี่ยนคนสูบ-คนดื่ม เป็นครูสอนตัดผมมืออาชีพ” ร้านตัดผมปลอดควัน สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ณ วิทยาลัยสารพัดช่างตรัง โดย นายประเสริฐ ดำทิพย์ อาจารย์วิทยาลัยสารพัดช่างตรัง ผู้ริเริ่มในการเชิญชวนให้นักเรียนที่เข้าเรียนวิชาชีพช่างตัดผม ไม่สูบบุหรี่ เพื่อส่งเสริมบุคลิกภาพในการทำอาชีพ เพราะมองว่ากลิ่นจากการสูบจะส่งผลให้ลูกค้าที่มารับบริการอาจเกิดความรังเกลียด รวมทั้งเพื่อนรักษาสุขภาพช่างตัดผม และลูกค้าจากการรับควันบุรี่มือสองด้วย
No comments