สถาบันมาตรฯ กรมอุตุฯ ลงนาม พัฒนามาตรฐานการตรวจวัดระบบพยากรณ์อากาศ และเตือนภัยของประเทศไทย
วันนี้ (26 ก.ย. 2566) : พลตํารวจโท นายแพทย์ พรชัย สุธีรคุณ ผู้อํานวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ร่วมกับ ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบมาตรวิทยาในงานทางด้านอุตุนิยมวิทยา ระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ และ นายอนุสรณ์ ทนหมื่นไวย รองผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุม 2-206 อาคารมาตรธำรง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ดร. ชมภารี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้มีความร่วมมือกันในด้านมาตรวิทยามาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยา ทดลองใช้เครื่องมือสำหรับสอบเทียบเครื่องวัดแผ่นดินไหว เพื่อทวนสอบค่าในการตรวจวัดหรือ Sensitivity ของหัววัดคลื่นแผ่นดินไหวให้มีประสิทธิภาพ มีความถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยามีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวและหัววัดคลื่นแผ่นดินไหวมากกว่า 150 สถานี อีกทั้งยังมีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจวัดสภาวะอากาศจำนวนมาก ที่จำเป็นต้องมีการสอบเทียบตามมาตรฐานที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กำหนด โดยการลงนามความร่วมมือกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาสำหรับเครื่องมืออุตุนิยมวิทยาของประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม การท่องเที่ยว พลังงาน และความปลอดภัยของประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในระดับนานาชาติของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกของ WMO ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและบริการด้านอุตุนิยมวิทยากับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน พลตำรวจโท พรชัย กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติมีบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ ที่สามารถสอบย้อนกลับไปยังหน่วยวัดมาตรฐานสากลได้ และมีนโยบายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านมาตรวิทยา ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ให้กับภาครัฐและเอกชนในประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาในกระบวนการตรวจวัดด้านอุตุนิยมวิทยาและแผ่นดินไหว ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และได้มาตรฐาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศ การเตือนภัยด้านอุตุนิยมวิทยา และแผ่นดินไหวของประเทศในภาพรวม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองหน่วยงานจะได้ยกระดับความสัมพันธ์จากที่เคยมีความร่วมมือระหว่างกันในระดับปฏิบัติการ เพื่อสถาปนาระบบสอบเทียบเครื่องวัดแผ่นดินไหวของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ไปสู่ความร่วมมือในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในเชิงวิชาการและปฏิบัติการ อันจะช่วยเพิ่มความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือให้กับผลการตรวจวัดด้านอุตุนิยมวิทยาและแผ่นดินไหวของประเทศ ที่สามารถสอบกลับได้สู่มาตรฐานแห่งชาติ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ยินดีที่จะสนับสนุนทรัพยากร ตลอดจนองค์ความรู้ด้านมาตรวิทยาที่มีความสำคัญ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติต่อไปในอนาคต
No comments