Header Ads

จัดค่ายนักวิทยาศาสตร์น้อยท่องแดนซินโครตรอน สร้างแรงบันดาลใจเส้นทางอาชีพเยาวชน

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัด “ค่ายนักวิทยาศาสตร์น้อย ท่องแดนซินโครตรอน” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ให้กับนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนจิตรลดา อัดแน่น 10 ฐานการทดลอง ให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องชนิดและธรรมชาติของคลื่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ศักย์ไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก เรียนรู้เกี่ยวกับเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ จำลองสร้างภูเขาไฟระเบิด ทดลองกฎการเหนี่ยวนำไฟฟ้าของไมเคิล ฟาราเดย์ ตื่นตากับการสร้างยาสีฟันช้าง ถอดรหัสลับด้วยอินดิเคเตอร์ ตะลึงกับมายากลสร้างผลึกน้ำแข็ง ปิดท้ายด้วยโชว์วิทยาศาสตร์แสนสนุก

นครราชสีมา - ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ รองผู้อำนวยการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงสยาม 2 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และประธานค่ายวิทยาศาสตร์น้อยท่องแดนซินโครตรอน กล่าวว่า “วันที่ 10 พ.ย.66 สถาบันฯ จัดค่ายนักวิทยาศาสตร์น้อยท่องแดนซินโครตรอน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจิตรลดา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เยาวชนมีเจตนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล โดยมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 119 คน ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งเป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในระดับแนวหน้า รวมทั้งสัมผัสการทำงานจริงๆ ของนักวิทยาศาสตร์”   

“นอกจากเด็ก ๆ จะได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับแสงซินโครตรอนแล้ว สถาบันฯ ยังได้เตรียมฐานการทดลองให้นักเรียนทั้งหมด 10 ฐานการทดลอง เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ผ่านความสนุกสนาน ได้แก่ ฐานกระดิ่งในโหลแก้วเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับตัวกลางของคลื่น ฐานสเปกตรัมของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฐานเครื่องเปลี่ยนทรงผมสุดแนวเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับศักย์ไฟฟ้า ฐานการทำสไลด์เซลล์พืชเพื่อส่องดูใต้กล้องจุลทรรศน์ ฐานเม็ดโฟมเต้นระบำเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและพฤติกรรมของคลื่น ฐานสร้างภูเขาไฟระเบิดจากผงฟูและน้ำยาล้างจาน ฐานท่อถ่วงเวลาเพื่อเรียนรู้กฎการเหนี่ยวนำของไมเคิล ฟาราเดย์ ฐานสร้างยาสีฟันช้างเพื่อเรียนรู้การทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี ฐานถอดรหัสลับด้วยอินดิเคเตอร์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นกรดและเบสอย่างง่าย และฐานสุดพิเศษ Elsa Trick เพื่อศึกษาการตกผลึกด้วยมายากลของแม่มดเอลซ่า ปิดท้ายด้วยโชว์วิทยาศาสตร์แสนสนุก” ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ กล่าว 

ทั้งนี้ สถาบันฯ และโรงเรียนจิตรลดา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การทำวิจัยของครูและโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีซินโครตรอนและสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมกันพัฒนาทรัพยากรบุคคล และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เยาวชนมีเจตนคติที่ดีต่อวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมสนับสนุนทางวิชาการ การฝึกอบรม การจัดกิจกรรม ผลักดันโครงการวิทยาศาสตร์และค่ายวิทยาศาสตร์ และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง






No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.