Header Ads

พพ. โชว์ศักยภาพ “ไทยอีสเทิร์น ชลบุรี” คว้ารางวัล Thailand Energy Awards 2023 ต้นแบบโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสีย ทดแทน LPG-ไฟฟ้า เดินหน้าลดคาร์บอนปี 73

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ศึกษาความสำเร็จ บริษัท ไทยอีสเทิร์น จ.ชลบุรี  ผู้ผลิตและแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออก คว้ารางวัลดีเด่น Thailand Energy Awards 2023 และรองชนะเลิศอันดับ 1 เวที ASEAN Energy Awards 2023 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า ดึงของเสียจากการแปรรูปยางพาราและน้ำเสียจากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนการซื้อ LPG ในกระบวนการอบยางแท่ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน และขายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟภ. โชว์ศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพได้กว่า 9 แสนลูกบาศก์เมตร/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 1 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากทะลายปาล์มเปล่าและตะกอนปาล์มในอุตสาหกรรมแปรรูปปาล์มน้ำมัน ของบริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 2 ต.เขาซก อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ที่ได้รับรางวัลดีเด่น Thailand Energy Awards 2023 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ASEAN Energy Awards 2023 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid : Thermal) เพื่อถ่ายทอดความสำเร็จและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิต-การใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนได้อย่างคุ้มค่าและเป็นรูปธรรม


“ในความสำเร็จของโครงการดังกล่าว เป็นการนำของเสียของกระบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์ในด้านการลดค่าใช้จ่ายของโรงงาน โดยผลิตเป็นก๊าซชีวภาพจากทะลายปาล์มและตะกอนปาล์ม ที่ได้ผ่านการวิจัย ค้นคว้า ทดลองจนสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้จริง จึงดำเนินการจัดตั้งระบบ พร้อมนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ส่วนหนึ่ง ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับ Burner ทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อใช้ประโยชน์ในกระบวนการอบยางแท่ง และยังสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน และส่งขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง” นายชำนาญ กล่าว

นายก้องกิต โกกนุทาภรณ์ ด้านขวามือ

ด้านนายก้องกิต โกกนุทาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการด้านพลังงาน บริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถเพิ่มศักยภาพ และลดต้นทุนเชื้อเพลิง ลดต้นทุนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันสามารถผลิตก๊าซชีวภาพจากทะลายปาล์มเปล่าและตะกอนปาล์มได้สูงสุด 928,363 ลูกบาศก์เมตร/ปี ที่นำไปทดแทนการใช้ LPG ในกระบวนการอบยางได้ 427,052.5 kg.LPG/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1,304.48 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ใช้งบประมาณในการลงทุน 3.9 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนภายในของโครงการ 48.70% และระยะเวลาคืนทุนประมาณ 2.29 ปี 

“บริษัทตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุหรือของเสียที่ไม่ใช้แล้วมาก่อให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายก้องกิต กล่าว 












No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.