เครือข่ายชุมชน กทม. ยื่น 4 ข้อถึง“ชัชชาติ” ชงผลักดันแก้ฎหมายจราจรทางบก เอาผิดเมาขับชนคนตายต้องติดคุกจริงไม่รอลงอาญา
เครือข่ายชุมชน กทม. ยื่น 4 ข้อถึง“ชัชชาติ” ชงผลักดันแก้ฎหมายจราจรทางบก เอาผิดเมาขับชนคนตายต้องติดคุกจริงไม่รอลงอาญา ดึงร้านค้าผู้ประกอบร่วมรับผิดชอบ พร้อมขอตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย บังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์เข้มข้นช่วงสงกรานต์ กิจกรรมต้องปลอดเหล้า จี้เร่งประเมินผลเปิดผับตี 4 ผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว ควรไปต่อ หรือพอแค่นี้
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เข้ายื่นหนังสือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุม ป้องกันผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าพื้นที่นำร่องในการอนุญาตให้โรงแรมที่มีสถานบริการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงเวลา 04.00 น. (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรีและอำเภอเกาะสมุย) ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 และข้อห่วงใยต่อเทศกาลสงกรานต์
นายนิวัฒน์ ทองประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้โรงแรมที่มีสถานบริการอยู่ทั่วประเทศ และสถานบริการใน 5 พื้นที่นำร่องให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จนถึง 04.00 น.โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมลงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้การทำธุรกิจ ทำการตลาด สามารถกินดื่มได้เสรีมากขึ้น อาทิ ให้ยกเลิกเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้โฆษณาออนไลน์ – สปอนเซอร์กิจกรรมต่างๆ ได้ ให้ส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถมได้ ขออนุญาตให้ขายและดื่มได้ในกิจกรรมที่จัดในสถานที่ราชการ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 27 มีนาคมนี้
“เรื่องนี้ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนโดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ รู้สึกกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งใกล้จะถึงเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก หากมีการผ่อนปรนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และทั่วประเทศในช่วงเทศกาลจะสร้างปัญหาผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งอุบัติเหตุ ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท อาชญากรรมและคุกคามทางเพศ” นายนิวัฒน์ กล่าว
ด้านนางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า ด้วยนโยบายรัฐบาลที่เร่งเดินทางลดทอนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากและสวนทางกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ที่แนะนำให้แต่ละประเทศมีมาตรการควบคุมสำคัญ เช่น การขึ้นภาษี จำกัดการเข้าถึง คุมโฆษณา จัดการคนเมาแล้วขับ และคัดกรองบำบัดรักษา ซึ่งจะคุ้มค่ากว่ามากในทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยพบตัวเลขว่าทุก ๆ 1 บาท ที่รัฐลงทุนในมาตรการ จะมีความคุ้มค่ากลับมาถึง 2.64 บาท
“ในวันนี้ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. เครือข่ายฯ จึงมีจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล ดังนี้ 1. ขอให้คณะกรรมการฯ ผลักดันให้มีการปรับแก้พระราชบัญญัติจราจรทางบก เพิ่มโทษของผู้ที่เมาแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องรับโทษติดคุกจริงโดยไม่รอลงอาญา และกำหนดให้สถานบริการ ร้านเหล้า ผับ บาร์ ที่จำหน่ายให้ผู้ก่อเหตุต้องมีส่วนร่วมรับผิด 2. ขอให้คณะกรรมการฯ ผลักดันให้มีกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและจำหน่าย มีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย 3. ขอให้บังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเข้มงวดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 และยืนยันให้ทุกการจัดกิจกรรมปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ และ 4. ขอให้กรุงเทพฯ เร่งประเมินผลกระทบ ผลได้ผลเสียในทุกมิติ จานโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 ว่าหลังดำเนินการมาแล้ว 3 เดือน มีผลเป็นรูปธรรมอย่างไร ควรเดินหน้าต่อ หรือหยุดนโยบายนี้” นางสาวเครือมาศ กล่าว
No comments