Header Ads

สจล. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากโครงการก่อสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ

สจล. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

จากโครงการก่อสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ

พร้อมเสนอแนะให้เปลี่ยนเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน เชื่อ ระยะยาวคุ้มค่า และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำโดย 

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล.  

รองศาสตราจารย์  สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน จัดประชุมแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ จากโครงการก่อสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ ณ ห้องประชุมแคแสด อาคารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สจล.  โดยมีผู้แทนชุมชน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องของ สจล. และบุคลากร เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นดังกล่าว

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 เรื่องผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ ต่อประชาชน ณ ห้องประชุมอาคารสมาคมศิษย์เก่าสถาบันทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ซึ่ง สจล. พบว่าประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับทราบถึงผลกระทบของโครงการอย่างชัดเจน จึงต้องการสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้มีการแสดงความเห็นและรับฟังความคิดเห็น เกิดการรับรู้ร่วมกันมากที่สุด 

โดย สจล. ได้มีข้อเสนอแนะให้เปลี่ยนเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน แทนการสร้างทางยกระดับ ถึงแม้ว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า แต่ในระยะยาว ก็คุ้มค่า และทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด  หลังจากนี้จะรีบจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะต่าง ๆ ของ สจล. เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อดำเนินการร่วมกันศึกษาข้อมูลในการก่อสร้างอุโมงค์  การออกแบบ คำนวนงบประมาณในการก่อสร้าง เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาสนับสนุนการก่อสร้างแบบอุโมงค์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 3 สัปดาห์    

             

ทางด้านผู้แทนชุมชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเห็นด้วยกับ สจล. ที่เสนอแนะการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน และอยากให้ สจล. ช่วยผลักดันเพื่อให้เกิดโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างทางยกระดับตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเสนอรูปแบบดังกล่าว โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการก่อสร้างตอม่อค่อมเส้นทางเดิม เป็นก่อสร้างทางยกระดับทางฝั่งทิศใต้เพียงฝั่งเดียวก็ตาม เพราะประชาชนก็ยังคงได้รับผลกระทบทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ มูลค่าทรัพย์สิน รวมถึงต้องมีพื้นที่บางส่วนถูกเวนคืน ซึ่งมีประชาชนกว่า 1,000 ครัวเรือน สถานศึกษา ศาสนสถานรวมกันกว่า 10 แห่ง และ สถานประกอบการราว 200 แห่งรับผลกระทบในการก่อสร้างเช่นเดิม

 

ทั้งนี้หากคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเชิญผู้แทนชุมชน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มารับฟังการนำเสนอข้อมูล ในการประชุมครั้งต่อไป 

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.