Header Ads

กรมชลประทาน ชงโครงการประตูระบายน้ำ “น้ำปั้ว-ไหล่น่าน” และ “ฆะมัง” เป็นเครื่องมือบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลำน้ำน่านอย่างยั่งยืน

กรมชลประทาน ชงโครงการประตูระบายน้ำ “น้ำปั้ว-ไหล่น่าน” และ “ฆะมัง”
เป็นเครื่องมือบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลำน้ำน่านอย่างยั่งยืน
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ พร้อมด้วยนายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 2 นายนิพนธ์ สนั่นเรืองศักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ กรมชลประทาน พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดน่านเพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน พร้อมเสนอแผนหลักการพัฒนาอาคารบังคับน้ำแม่น้ำน่าน ในเขตจังหวัดน่าน พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ พร้อมชง 2 โครงการเร่งด่วน "ประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน และ ประตูระบายน้ำฆะมัง" หวังเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อย่างยั่งยืน
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้มีการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำมาโดยลำดับ โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำที่สำคัญ อาทิเช่น เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก เขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนทดน้ำนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เมื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ 10,430.25 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีแผนพัฒนาจัดหา แหล่งเก็บกักน้ำในระยะกลาง (ปี 2565-2575) เพิ่มเติมอีก เช่น อ่างเก็บน้ำน้ำปาด (ภูวังผา) อ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ่างเก็บน้ำน้ำกิและอ่างเก็บน้ำน้ำยาว เป็นต้น ซึ่งหากพัฒนาได้ทั้งหมดก็มีน้ำเก็บกักได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 799 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน จึงมีนโยบายที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีกโดยการใช้ลำน้ำน่านเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ จึงเป็นที่มาของโครงการที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการศึกษาแผนหลักและความเหมาะสมรวมถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน
สำหรับผลการศึกษาจัดทำแผนหลักการพัฒนาประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน มีทั้งหมด จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ (1) ปตร.ผาจา จังหวัดน่าน (2) ปตร.น้ำปั้ว-ไหล่น่าน จังหวัดน่าน (3) ปตร.ท้ายเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก (4) ปตร.โคกสลุต จังหวัดพิษณุโลก (5) ปตร.ฆะมัง จังหวัดพิจิตร (6) ปตร.บ้านห้วยคต จังหวัดพิจิตร และ (7) ปตร.วังหมาเน่า จังหวัดนครสวรรค์ โดยนำมาจัดลำดับความสำคัญและคัดเลือก 2 โครงการที่ดำเนินการก่อสร้างในลำน้ำน่านและมีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่

(1) ประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน มีความจุ 3.55 ล้าน ลบ.ม. ขนาดบานประตูความกว้าง 12.50 เมตร สูง 10 เมตร จำนวน 6 ช่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน พื้นที่ชลประทาน 16,320 ไร่

(2) ประตูระบายน้ำฆะมัง มีความจุ 24.77 ล้าน ลบ.ม. ขนาดบานประตูความกว้าง 12.50 เมตร สูง 10 เมตร จำนวน 7 ช่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลฆะมัง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร พื้นที่ชลประทาน 30,849 ไร่
ทั้งนี้เมื่อกรมชลประทานดำเนินการตามแผนงาน 7 โครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ลำน้ำน่านสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 152.99 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิม 141,720 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 36,404 ไร่ รวมพื้นที่ชลประทาน 178,124 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภค การประมง และการปศุสัตว์ สนับสนุนประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยวและกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ด้านนายโชตธนินทร์ เดโชวชิรสวัสดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่ผ่านมาจะประสบปัญหาภัยแล้ง การสูบน้ำขึ้นมาใช้ก็จะทำได้ยาก เนื่องจากเป็นการสูบน้ำในพื้นที่ต่ำขึ้นมา ดังนั้นโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน จะสามารแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งจะครอบคลุม 2 อำเภอ 6 ตำบล ในพื้นที่ ต.กองควาย อ.เมืองน่าน ต.น้ำปั้ว ต.ตาลชุม ต.กลางเวียง ต.ปงสนุก ต.นาเหลือง ใน อ.เวียงสา ประชาชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำได้ประโยชน์ มีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร ทั้งพื้นที่นาข้าว พืชสวน ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ นอกจากนั้นยังยังช่วยปรับสมดลุให้กับระบบนิเวศ การเพิ่มแหล่งน้ำใต้ดิน และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการแข่งขันเรือยาว ซึ่งเป็นประเพณีของคนในพื้นที่ จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อีกทางหนึ่ง








No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.