“รชค.มนพร” ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย สบพ. สร้างบุคลากรการบิน ขานรับวิสัยทัศน์นายกรัฐมนตรี “IGNITE THAILAND, AVIATION HUB”
“รชค.มนพร” ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย สบพ. สร้างบุคลากรการบิน ขานรับวิสัยทัศน์นายกรัฐมนตรี “IGNITE THAILAND, AVIATION HUB”
วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) โดยมี พลเอก ดร.ดิเรก ดีประเสริฐ ประธานกรรมการสถาบันการบินพลเรือน คณะกรรมการ สบพ. นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน และคณะผู้บริหาร สบพ. ให้การต้อนรับ ณ สบพ. กรุงเทพฯ พร้อมร่วมสักการะพระพุทธะจัตตาฬีสะมงคล พระพุทธรูปประจำ สบพ. ปลูกไม้มงคลหน้าเสาธง หลังจากนั้นได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปภารกิจ ผลการดำเนินงานโครงการสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคของ สบพ. เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการเรียนการสอนของ สบพ. พร้อมมอบนโยบายขับเคลื่อนองค์กร ให้พัฒนาบุคลากรด้านการบิน ขานรับวิสัยทัศน์ Aviation Hub ของนายกเศรษฐา ทวีสิน
โดย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ สบพ. เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานเพื่อรองรับการกลับมาของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มการขยายตัวสูงขึ้น ได้รับความนิยมเป็นทางเลือกในการเดินทางและการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรด้านการบินเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นับว่าเป็นการยกระดับการคมนาคมขนส่งทางอากาศของไทย สู่การเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่ง สบพ. ถือเป็นหน่วยงานหลักชั้นนำที่ผลิตบุคลากรด้านการบิน และมีหลักสูตรที่หลากหลายเป็นที่ยอมรับ เช่น การจัดการจราจรทางอากาศ การจัดการสนามบิน การจัดการสายการบิน การฝึกนักบิน วิศวกรการบิน และช่างอากาศยาน จึงเป็นหน่วยงานสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายโอกาสในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน
ในการนี้ นางมนพรฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายสนับสนุน และส่งเสริมให้ สบพ. มีหลักสูตรที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจากองค์กรสากล (ICAO และ EASA) มีบุคลากรผู้สอนที่มีศักยภาพเพียงพอกับจำนวนผู้เรียน และมีอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย เพื่อให้บุคลากรที่จบการศึกษามีคุณภาพในระดับสากล และตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจด้านการบิน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการส่งเสริมภารกิจดังกล่าว เห็นควรขอความร่วมมือจากหน่วยงานในอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีแผนการเตรียมความพร้อมบุคลากรการบินให้ ร่วมกันสนับสนุน สบพ. โดยการส่งบุคลากรไปฝึกอบรม ณ สบพ. แทนการส่งไปฝึกอบรมในต่างประเทศ ดังนั้น สบพ. จึงควรเตรียมความพร้อมโดยจัดและพัฒนาหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของหน่วยงาน และพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัย รวมถึงให้ครอบคลุมถึงประเด็นการปรับเปลี่ยนบริบททางธุรกิจของอุตสาหกรรมการบิน พร้อมทั้งพิจารณาถึง ระบบการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ปรับเปลี่ยน นโยบายการพัฒนาบุคลากรด้วยการส่งฝึกอบรมภายในประเทศแทนการส่งไปฝึกอบรมยังต่างประเทศและลดการเดินทางของบุคลากรในการอบรมซึ่งถือเป็นการดำเนินงานตามมาตรการลดค่าใช้จ่ายของกระทรวงคมนาคมและสามารถเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรอีกทางหนึ่งเพื่อรองรับการกลับมาของอุตสาหกรรมการบินของไทยภายหลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ ขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรด้านการบินของประเทศไทย ว่าเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้กลับมาเข้มแข็ง และขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อีกครั้งในอีกไม่ช้า เพราะวันนี้เรามีสถาบันการบินพลเรือนที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการรับรองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ในฐานะสมาชิกโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ระดับ Platinum ซึ่งเป็นสถานะสมาชิกระดับสูงสุดของโครงการ และเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย นับเป็นความภาคภูมิใจที่ สบพ. เป็นหนึ่งในสถาบันฝึกอบรมที่มีมาตรฐานสูงสุดเป็น 1 ใน 4 ของสถาบันฝึกอบรมในภูมิภาคเอเชีย และเป็น 1 ใน 9 สถาบันฝึกอบรมจากสมาชิกทั่วโลก เป็นก้าวแห่งความสำเร็จในมาตรฐานระดับโลก กระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของชาติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน ได้กล่าวว่าสบพ. พร้อมดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบาย ที่มีการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ในระบบโลจิสติกส์ (Logistics) ทางด้านการบินของประเทศ จึงมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบัน สบพ. เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ทางด้านการบินทั้งในประเทศและภูมิภาค ทั้งกระทรวงคมนาคมยังมีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรร่วมกัน โดยให้ สบพ. เป็นหน่วยงานกลางให้การอบรมพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการบินทั้งหมด การพัฒนาดังกล่าวจะต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลโดยเฉพาะเป็นบุคลากรที่มีทักษะ (skilled personnel) เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวทางอากาศของประเทศและภูมิภาคต่อไปได้
No comments