วช. แถลงข่าวมาตรฐานการวิจัยและจัดทำระบบกลางในการบริหารภาพรวมของการวิจัยและนวัตกรรม (NRIIS)
วช. แถลงข่าวมาตรฐานการวิจัยและจัดทำระบบกลางในการบริหารภาพรวมของการวิจัยและนวัตกรรม (NRIIS)
วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานแถลงข่าวการดำเนินงานตามมาตรฐานการวิจัยผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงานแถลงข่าว และความสำคัญของมาตรฐานการวิจัย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของมาตรฐานการวิจัย และ ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานการวิจัยผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) ณ อาคาร วช. 8 ชั้น 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) เพื่อเป็นระบบกลางในการบริหารภาพรวมของการวิจัยและนวัตกรรม โครงการวิจัย นักวิจัย แผนงานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานของระบบวิจัย เป็นเครื่องมือในการเสนอขอรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และจากแหล่งทุนต่าง ๆ โดยการยื่นขอรับงบประมาณผ่านระบบ NRIIS นักวิจัยจะต้องดำเนินการกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์มที่ วช. กำหนด เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาจากการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัย รวมทั้งวิธีการแก้ไขและป้องกันให้แก่นักวิจัย เป็นการผลักดันงานวิจัยที่อยู่ในความเสี่ยง ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่มีความรับผิดชอบทางการวิจัย และนำไปสู่ความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานวิจัยเป็นไปตามหลักจริยธรรม กฎหมาย และการทำงานวิจัยที่โปร่งใส มีคุณภาพและเชื่อถือได้ นักวิจัย และผู้ร่วมที่ดำเนินการวิจัย ที่ประสงค์ยื่นเสนอข้อเสนอเพื่อรับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัย จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัย ที่จัดอบรมโดย วช. หรือ หน่วยงานภายนอกที่ให้การอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า มาตรฐานการวิจัยเป็นหลักการที่แนะนำนักวิจัยเกี่ยวกับวิธีการดำเนินกิจกรรมการวิจัยอย่างมีจริยธรรม โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อ และความรับผิดชอบในการทำวิจัย ต่อชีวิตมนุษย์ หรือสัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยในเบื้องต้นเป็นการนำร่อง ยังไม่บังคับใช้และยังไม่มีผลต่อการพิจารณาให้ทุน เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และนำไปสู่การกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในอนาคต การดำเนินงานมาตรฐานการวิจัยด้านต่าง ๆ จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับให้งานวิจัยมีคุณภาพ และเกิดความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการวิจัยนั้นเป็นไปตามหลักการ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568 ที่กำลังจะเปิดรับข้อเสนอโครงการในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 โดยระบบมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้านสารเคมีสามารถเข้าลงทะเบียน ได้ที่เว็บไซต์มาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัย วช. กรณีที่ยังไม่มีเลขทะเบียนห้องปฏิบัติการ สามารถใช้เลขทะเบียนของห้องปฏิบัติการอื่นได้ภายใต้เงื่อนไขที่ วช. กำหนด ในส่วนของหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่านักวิจัยผ่านการอบรมด้านจริยธรรมการวิจัย สามารถใช้เอกสารรับรองที่จัดการอบรมโดยหน่วยงานเองได้
ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ กล่าวถึง มาตรฐานการวิจัยที่ให้นักวิจัยเลือกสถานะความเกี่ยวข้องด้านมาตรฐานการวิจัย แบ่งเป็น 1. มาตรฐานการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ที่มีความสำคัญของงานที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยง และการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศมา โดยสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) เพื่อผลักดันให้มีกฎหมายในการกำกับ ดูแล และส่งเสริมการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 2. มาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ เป็นการวิจัยที่มีผลต่อการพัฒนา และความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ในด้านสังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาค้นคว้าและวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างหรืออาสาสมัครที่เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นมนุษย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่อาสาสมัครว่าได้รับการคุ้มครอง สิทธิ ศักดิ์ศรี ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดี ตามหลักจริยธรรมการวิจัยระดับสากล 3. มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ ต้องมีกระบวนการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายสู่ตัวผู้ปฏิบัติงาน ผู้ร่วมปฏิบัติงาน และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ โดยใช้กฎหมายในการควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพในการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ และ 4. มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้านสารเคมี เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจัดการความปลอดภัยห้องปฏิบัติการอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ เพื่อควบคุมมาตรฐานการวิจัยให้อยู่ในกรอบจริยธรรมการวิจัย ไม่ให้ขัดต่อพระราชบัญญัติ
ทั้งนี้ วช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่สนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมในประเทศ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่สาธารณชน เพื่อสร้างความตะหนักรู้ กระตุ้นให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดผลงานวิจัยต่อไป
No comments