สศท. เตรียมจัด “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15”
สศท. เตรียมจัด “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15”
โชว์หัตถศิลป์ไทยชั้นบรมครู พร้อมสืบสานภูมิปัญญา รักษา ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรม
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. เตรียมจัดแสดงงานศิลปหัตถกรรมไทยแห่งปี “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” ระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายนนี้ หวังส่งต่อภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่างหัตถศิลป์ไทยชั้นครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ และทายาทฯ ให้เกิดการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่าคู่แผ่นดินไทย
นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยถึงความพร้อมการจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” มหกรรมจัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ชั้นบรมครู และจำหน่ายงานหัตถศิลป์ไทย โดยระบุว่า ภายใต้ภารกิจของ สศท. ในการส่งเสริม สนับสนุน ศิลปหัตถกรรมไทยทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเสริมสร้างอาชีพให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่การพัฒนาหัตถศิลป์ไทยให้ยั่งยืน เพื่อผลักดันภารกิจดังกล่าวปีนี้ สศท. ยังคงสานต่อการจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” ภายใต้แนวคิด สืบสาน ตำนานหัตถศิลป์ไทย (The Legend of Thai Craft) เพื่อเป็นการสืบสานงานศิลปหัตกรรมไทยที่ใกล้สูญหาย รักษาภูมิปัญญาองค์ความรู้ของบรรพบุรุษที่มีอัตลักษณ์ สะท้อนความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานไม่ให้สูญหาย และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ในฐานะมรดกภูมิปัญญาคู่แผ่นดิน รวมทั้งปลุกตำนาน และฟื้นคืนชีวิตภูมิปัญญาคุณค่างานหัตถศิลป์ไทยชั้นบรมครูให้กับคนรุ่นใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนภูมิปัญญามรดกศิลป์ มรดกชาติ สู่การเป็น Craft Power สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
นิทรรศการส่วนไฮไลท์ “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” ผลงานหัตถศิลป์ล้ำค่าของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ผู้ล่วงลับกว่า 50 ผลงาน ซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่า ทั้งที่หาชมได้ยาก และใกล้สูญหาย เนื่องจากเหลือช่างทำน้อยราย ที่นับวันจะลดลง อนาคตอาจเหลือเพียงตำนาน อาทิ ขันลงหิน-บ้านบุ ครูเมตตา เสลานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552, มีดเหล็กลาย ครูพชร พงศกรรังศิลป์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559, หัตถกรรมทองเหลืองสาน ครูวนิตย์ ธรรมประทีป ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2553 เป็นต้น รวมถึงสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมชิ้นเอก ถ่ายทอดเทคนิค กระบวนการกว่าจะมาเป็นงานหัตถกรรม โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กว่า 25 ราย อาทิ เครื่องประดับมุกโบราณ, งานต้องลายปานซอย (งานฉลุลายโลหะแบบศิลปะไทใหญ่), ลายรดน้ำ, เครื่องเขิน, พวงมะโหตร, แกะสลักไม้, ว่าวเบอร์ฮามัส ฯลฯ และนิทรรศการ “ตำนานบทใหม่ของช่างฝีมือคนไทย” เชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย และทายาทศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2567
ส่วนที่สอง การส่งเสริมคุณค่างานหัตถศิลป์ จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์จาก SACIT Shop เพื่อสนับสนุนการจำหน่าย รวมไปถึงเพิ่มโอกาสและช่องทางการตลาดแก่ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมให้กับกลุ่มผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลป์ (Workshop) กิจกรรมการทดลองสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม กว่า 20 กิจกรรม สัมผัสประสบการณ์สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ไทยด้วยฝีมือตนเอง ซึ่งถ่ายทอดโดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม อาทิ หุ่นกระบอกไทยจิ๋ว, สลักดุนโลหะ, ทำหัวโขนแม่เหล็ก และการลงรักปิดทอง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษภายในงาน ด้วยพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2567 กิจกรรมเสวนาในหลากหลายมุมมองเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่า เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดระหว่างกัน โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งกิจกรรมสันทนาการ บริเวณเวทีกลางสำหรับถ่ายทอด สืบสาน และส่งเสริมคุณค่างานศิลปวัฒนธรรมของไทย อาทิ การแสดงหุ่นละครเล็กโจหลุยส์, การแสดงหนังใหญ่, การแสดงจากศิลปินที่เป็นแบบอย่าง ชรัส เฟื่องอารมณ์ การแสดงจากคนรุ่นใหม่ที่สืบสานความเป็นไทย ไรอัล กาจบัณฑิต, เก่ง ธชย และการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย
ทั้งนี้ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ขอเชิญทุกท่านมาร่วมสัมผัสเสน่ห์ของงานหัตถศิลป์ระดับชาติ ซึ่งรวบรวมไว้ซึ่งศาสตร์และศิลป์ชั้นบรมครูด้านศิลปหัตถกรรมไทยที่นี่ที่เดียวในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” สืบสาน ตำนานหัตถศิลป์ไทย (The Legend of Thai Craft) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
No comments