กระทรวง อว. เปิด“ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัย”
กระทรวง อว. เปิด“ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัย” ผนึกกองทัพภาคที่ 3-สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ-ภาคเอกชน
ระดมเทคโนโลยี-นวัตกรรม ช่วยประชาชน ทั้งโดรนขนยา-เวชภัณฑ์ โดรนขนของบรรทุกน้ำหนัก 20-40 กก. เรือกู้ภัยติดระบบ Tracking เช็คพิกัดได้ เรือแอร์โบ๊ท เรือกู้ภัยพลังลม ถุงยังชีพ พร้อมนำนักศึกษาจิตอาสาซ่อมแซมบ้านเรือน อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์การเกษตร
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.ให้ลงพื้นที่ จ.สุโขทัย เพื่อ “เปิดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมของกระทรวง อว.จ.สุโขทัย” โดยมี ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผศ.ดร. วีรชัย อาจหาญ รอง ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รอง ผอ.หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มทร.ล้านนา มทร.อีสาน มรภ.กำแพงเพชร มรภ.พิบูลสงคราม กองทัพภาคที่ 3 และสมาคมตอบโตภัยพิบัติ เข้าร่วม ที่โรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) จ.สุโขทัย
น.ส.สุชาดา กล่าวว่า การเปิดปฏิบัติช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมของกระทรวง อว. จ.สุโขทัย ในครั้งนี้ เป็นการสั่งการอย่างเร่งด่วนของ น.ส.ศุภมาส รมว.อว.ที่ให้ระดมสรรพกำลังทุกองคาพยพของกระทรวง อว. มาให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งกองทัพภาคที่ 3 หน่วยงานในพื้นที่ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ และบริษัทเอกชนต่างๆ ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น กองทัพโดรนเพื่อการบินสำรวจในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก และโดรนลำเลียงสิ่งของทั้งยา เวชภัณฑ์ อาหาร เครื่องอุปโภค~บริโภค ซึ่งสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 20 กก. และ 40 กก. เรือกู้ภัยไวไฟ ((WiFi) เรืออลูมิเนียมพร้อมเครื่องยนต์ขนาด 14 ฟุต ที่มีระบบ Tracking ที่สามารถเช็คพิกัดของเรือได้ว่าอยู่ที่จุดไหน เรือแอร์โบ๊ท เรือกู้ภัยพลังลม ถุงยังชีพ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ยังเปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือประชาชน เป็นที่พักพิงชั่วคราว และเป็นศูนย์กระจายสิ่งของที่จำเป็น รวมถึงเป็นหน่วยประสานงานในพื้นที่ พร้อมนำนักศึกษาจิตอาสามาช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งซ่อมแซมบ้านเรือน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์การเกษตร
“ขอขอบคุณกองทัพภาคที่ 3 สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ และภาคเอกชน ที่มาร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกับกระทรวง อว.ในครั้งนี้ ซึ่งกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดรถปฐมพยาบาล 1 คัน รถลำเลียงของและประชาชน 2 คัน และกำลังพล 1 กองร้อย ขณะที่ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติได้นำโดรนที่มีเทคโนโลยีและประสิทธิภาพสูง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกำลังหลักที่มาช่วยให้ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ถึงมือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ขอยืนยันว่า กระทรวง อว.และภาคีเครือข่ายพร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ และไม่ได้หยุดแค่นี้ เรายังทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย“ น.ส.สุชาดา กล่าว
จากนั้น เลขานุการ รมว.อว. และคณะ ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำ จ.สุโขทัย ที่หน่วยวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ หรือ รถ Mobile War Room ของ สสน. และรับฟังรายงานการติดตามสถานการณ์ด้วยดาวเทียม พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นประจำทุกวัน สถานการณ์ความเสี่ยงน้ำท่วมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ซึ่งประจำอยู่ที่กรมชลประทานสุโขทัย แล้วจึงเดินทางไปแจกถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านหนองโว้ง และเยี่ยมศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยวัดท่าทอง ต.เมืองบางยม อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
No comments