Header Ads

คปภ. เปิดเวทีสร้างการตระหนักรู้ยุคอากาศเปลี่ยนแปลงพร้อมถอดบทเรียนประกันภัยรับมือภัยน้ำท่วม

 คปภ. เปิดเวทีสร้างการตระหนักรู้ยุคอากาศเปลี่ยนแปลงพร้อมถอดบทเรียนประกันภัยรับมือภัยน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการ “สร้างการตระหนักรู้เพื่อรับมืออุทกภัยในยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน” ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. (รัชดาภิเษก) กรุงเทพมหานคร ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวโดยมีใจความที่สำคัญตอนหนึ่งว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันและพายุโซนร้อนทำให้พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ร่วมกันลงพื้นที่เร่งระดมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัยขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อเปิดรับแจ้งเหตุและให้ข้อมูลด้านการประกันภัยในทุก ๆ ช่องทาง พร้อมทั้งประสานงานและติดตามการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างถูกต้องรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากการประเมินความเสียหายของรถยนต์และทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในเบื้องต้น พบว่ามูลค่าความเสียหายที่ทำประกันภัยรวมกว่า 420 ล้านบาท เป็นรถยนต์ที่เสียหายมากกว่า 2,000 คัน ประมาณการสินไหม 408 ล้านบาท อาคารบ้านเรือนและร้านค้าเสียหายกว่า 865 หลังคาเรือน ประมาณการสินไหมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท รวมถึงข้าวนาปี ที่ทำประกันภัยไว้เสียหายมากกว่า 100,000 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินค่าสินไหมทดแทน

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคม ประกอบกับช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ภาคใต้ของไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุทกภัย ในอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมแผนรองรับการเกิดเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน คปภ. ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย จึงได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการด้านการประกันภัย เพื่อบริหารจัดการและช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติ หรือศูนย์ ICD เพื่อกำหนดนโยบายมาตรการด้านการประกันภัยให้ความช่วยเหลือ ผู้เอาประกันภัย ดำเนินมาตรการเชิงสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชน และมาตรการรองรับการเกิดภัยพิบัติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการประกันภัยให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว จึงจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “สร้างการตระหนักรู้เพื่อรับมืออุทกภัยในยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรยายในหัวข้อ “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการเกิดอุทกภัยในประเทศไทย” เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนรับมือการเกิดอุทกภัย นอกจากนี้ได้จัดเวทีร่วมกันถอดบทเรียนและแชร์ประสบการณ์ผ่านการเสวนาในหัวข้อ “อุตสาหกรรมประกันภัยและบทบาทในการบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือภัยน้ำท่วม” โดยมี นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ดร.พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย และ นายจำนง สวัสดิ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งถือเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและอุตสาหกรรมประกันภัย อันจะนำไปสู่การพัฒนามาตรการที่ครอบคลุมและเป็นระบบในการรับมือกับอุทกภัยที่จะช่วยให้เกิดการป้องกัน การฟื้นฟู และการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน

“อุทกภัยที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งได้สร้างความเสียหายมากมายมหาศาล ดังนั้นการทำประกันภัยจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการบริหารความเสี่ยงภัยจากธรรมชาติ ในขณะเดียวกันวิกฤตก็ถือเป็นโอกาสให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยที่สามารถช่วยบรรเทาความสูญเสียและลดความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบเช่นกัน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย





No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.