Header Ads

ภาคประชาสังคม เผย 69% ของหญิงจดทะเบียนสมรสที่มาบ้านพักฉุกเฉินถูกสามีทำร้ายซ้ำซากก่อนเข้าถึงความช่วยเหลือ และกว่า 90% ของผู้เสียหายถูกโน้มน้าวให้ยอมความ

ภาคประชาสังคม เผย 69% ของหญิงจดทะเบียนสมรสที่มาบ้านพักฉุกเฉินถูกสามีทำร้ายซ้ำซากก่อนเข้าถึงความช่วยเหลือ และกว่า 90% ของผู้เสียหายถูกโน้มน้าวให้ยอมความ เรียกร้องรัฐเพิ่มกลไกเอาผิดพร้อมแก้พฤติกรรมผู้กระทำเพื่อตัดวงจรความรุนแรงในครอบครัว เร่งเพิ่มทักษะเจ้าหน้าที่ และตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้เสียหาย พร้อมล่ารายชื่อชงกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฉบับภาคประชาชน หลังเห็นร่างฯ ภาครัฐยังไม่แก้ปัญหาจริง

 

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567- ที่ห้องประชุมแมนดารินซี โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศประเทศไทย ได้จัดเสวนาเรื่อง “การให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ: ประสบการณ์การทำงานของภาคประชาสังคม และแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย”

นางสาวบุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและผู้ก่อตั้งองค์กรชีโร่ (SHero Thailand) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แต่ปัญหาสำคัญคือการขาดกลไกสนับสนุน เช่น ทรัพยากร บุคลากรที่เข้าใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และนโยบายที่ชัดเจน รวมถึงค่านิยมชายเป็นใหญ่และคำสอนในสังคมอย่าง ‘ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า’ ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างปลอดภัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายเน้นการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับผู้เสียหายโดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง

“จากประสบการณ์การทำงาน เราพบว่ากว่า 90% ของผู้เสียหายมักถูกโน้มน้าวให้ยอมความ และถูกกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรง ขณะที่กระบวนการยุติธรรมก็ล่าช้า และเจ้าหน้าที่บางส่วนมีวิธีการตั้งคำถามหรือใช้คำพูดที่กดทับผู้เสียหายและทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจซ้ำ ยิ่งผู้เสียหายที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็ยิ่งเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือได้ยาก เพราะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและเวลาไม่เพียงพอ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะตกอยู่ในวงจรความรุนแรง ภาครัฐจึงควรเร่งเพิ่มความรู้ความเข้าใจและทักษะปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีความปลอดภัยและมีความละเอียดอ่อนต่อผู้เสียหายมากขึ้น และควรมีกองทุนเฉพาะสำหรับช่วยเหลือผู้เสียหายที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากด้วย” นางสาวบุษยาภา กล่าว


นางสาวบุษยาภา กล่าวต่อว่า ตนมีข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างคือ 1) ตั้งหน่วยเฉพาะกิจของตำรวจเพื่อรับผิดชอบคดีความรุนแรงในครอบครัวโดยตรง 2) เพิ่มทรัพยากรและสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทำงานต่อเนื่องจนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 3) อบรมเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับเพื่อเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติในคดี 4) จัดตั้งกองทุนสำหรับผู้เสียหายเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน การรักษาพยาบาล และที่พักพิง  5) แก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ให้ชัดเจนและบังคับใช้ได้จริง เช่น เพิ่มบทบาทของศาลและอำนาจพนักงานสอบสวนในการออกมาตรการคุ้มครองผู้เสียหาย


ด้าน นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ซึ่งดำเนินงานบ้านพักฉุกเฉินมากว่า 40 ปีกล่าวว่า ผู้ที่เข้ามารับการช่วยเหลือส่วนใหญ่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าความรุนแรงทางเพศ จำนวนไม่น้อยมาขอความช่วยเหลือหลังจากถูกกระทำมาแล้วเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มที่จดทะเบียนสมรสที่เข้ามา พบว่า 69% ถูกกระทำความรุนแรงนับครั้งไม่ถ้วนก่อนจะเข้าถึงความช่วยเหลือ โดยทางบ้านพักฯ เปิดบริการ 24 ชั่วโมง เพราะความรุนแรงเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และผู้ถูกกระทำรุนแรงบางส่วนเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ เพราะบางหน่วยงานกำหนดเงื่อนไขไม่รับผู้ถูกกระทำรุนแรงที่มีปัญหาซับซ้อน เช่น เป็นหญิงที่อยู่กับเอชไอวี หรือเป็นแรงงานหญิงข้ามชาติ เมื่อผู้ถูกกระทำรุนแรงเข้ามาที่บ้านพัก ในเบื้องต้นจะมีการประเมินความต้องการเฉพาะหน้า โดยเฉพาะผลกระทบจากความรุนแรง เช่น มีการเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจที่ต้องส่งต่อให้ได้รับการดูแลโดยแพทย์หรือไม่ จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยและการทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ สนับสนุนให้วางแผนชีวิต รวมถึงเข้ารับการฝึกอาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้ ทางบ้านพักฯ มีศูนย์ดูแลเด็กสำหรับผู้ถูกกระทำรุนแรงมีลูกติดตามมาด้วย โดยจะช่วยให้เด็กได้ไปโรงเรียน หรือรับดูแลในขณะที่แม่ได้ออกไปทำงาน ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงสามารถตั้งหลักและพึ่งตนเองได้เมื่อออกจากบ้านพักฯ


นางสาวอุษา กล่าวต่อว่า นอกจากภาครัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดสวัสดิการให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรง เช่น สวัสดิการสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้ว ตนยังอยากเห็นภาครัฐลงทุนในการทำงานกับตัวผู้กระทำความรุนแรงอย่างจริงจัง โดยมีบทลงโทษและติดตามไม่ให้กระทำซ้ำอีก และมีมาตรการขจัดปัจจัยกระตุ้นความรุนแรงออกไป เช่น ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด ซึ่งไม่ได้มุ่งให้กลับคืนสู่ครอบครัว แต่เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลดังกล่าวไปก่อเหตุกับคนอื่นอีก ที่ผ่านมา แม้จะมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่เจ้าหน้าที่มักเน้นไกล่เกลี่ยแล้วไม่ติดตามผล ทำให้ผู้หญิงถูกกระทำซ้ำ ผู้หญิงหลายคนแม้จะถูกทำร้ายอย่างรุนแรงแต่ก็เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมและไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เราจึงเสนอว่าถ้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องมีวิธีการทำงานที่ทำให้ตัวผู้กระทำเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อตัดวงจรความรุนแรง ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความและดำเนินคดีอย่างจริงจัง ก็จะเป็นวิธีหนึ่งในการปรับพฤติกรรมที่ได้ผล


ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า เราต้องร่วมกันผลักดันให้รัฐทบทวนการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว เพราะขณะนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เอื้อกับการคุ้มครองผู้ถูกกระทำหลายประเด็น เช่น เน้นการไกล่เกลี่ยให้คู่กรณียอมความและคืนดีกันมากกว่าการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ถูกกระทำ และแม้จะปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนแล้ว เช่น ขยายการคุ้มครองไปถึงคู่รักทั้งที่เป็นคู่หญิงชายและคู่เพศเดียวกัน แต่ร่างของ พม. ก็ยังมีเนื้อหาที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่อีกหลายส่วน ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ลงมติว่าจะจัดทำร่างกฎหมายของภาคประชาชนขึ้นมาเอง และจะรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้ได้อย่างน้อยหนึ่งหมื่นรายชื่อเพื่อเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่จะคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวอย่างได้ผลจริง  

“ทางเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงฯ มองว่าในเมื่อรัฐบาลกำลังแก้ไขกฎหมายเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอยู่ก็ควรแก้ไขในลักษณะที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวให้ได้มากที่สุด เช่น ควรบรรจุเรื่องการจัดตั้งกลไกการประสานงานสหวิชาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงโดยระบุชื่อและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมและชัดเจน และต้องมีกลไกการติดตามผลการให้บริการด้วย เพื่อประกันว่าผู้ที่ถูกกระทำรุนแรงจะได้รับบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นอย่างรอบด้าน ซึ่งจะช่วยให้ก้าวพ้นปัญหาได้ และเรายังคาดหวังให้กฎหมายบรรจุเรื่องการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรง ทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้าและการฟื้นฟูเยียวยาในระยะยาวด้วย” ดร. วราภรณ์ กล่าว



No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.