ประเทศไทย ประกาศพร้อมเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด “กรีน ซีเกมส์”
ประเทศไทย ประกาศพร้อมเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด “กรีน ซีเกมส์” มุ่งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสถานที่จัดการแข่งขันต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 ณ ลานพลาซ่า การกีฬาแห่งประเทศไทย นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน Kick Off กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน พร้อมด้วย เอกอัครราชทูตประเทศอาเซียนประจำประเทศไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านกีฬาแห่งชาติ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขาธิการคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยและผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้แทนจังหวัดเจ้าภาพทุกจังหวัด ผู้บริหารสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยและนักกีฬา และเหล่าดารา-อินฟลูฯ รักกีฬารักษ์โลก อาทิ คุณเขมนิจ จามิกรณ์ (แพนเค้ก) คุณรัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น ดารานักวอลเลย์บอลอาชีพ, คุณเปิ้ล นาคร ศิลาชัย และลูกชาย คุณนครา ศิลาชัย (ออก้า) นักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติ และทัพนักกีฬาไทย ที่จะมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการเปิดประตูสู่การเป็นเจ้าภาพที่ยิ่งใหญ่พร้อมกับชาวไทย
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรีและจังหวัดสงขลา และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 20-26 มกราคม 2569 จังหวัดนครราชสีมา และการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาที่จะมุ่งเน้นความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด "Green SEA Games" และ "Sustainable Paralympics" ซึ่งเป็นแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อมในฐานะการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ นำไปสู่การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งในด้านการใช้พลังงานสะอาด การลดขยะพลาสติก และการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมแก่ผู้เข้าร่วมทุกภาคส่วนนำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมือง รวมถึงสนามกีฬา ระบบการขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว และช่วยเสริมสร้างเมืองที่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แสดงศักยภาพของประเทศในด้านกีฬา การท่องเที่ยว และความพร้อมในระดับนานาชาติ ควบคู่กับการสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมสุขภาพผ่านการเล่นกีฬาในทุกระดับของสังคม
“อีกเป้าหมายสำคัญ เรามุ่งเน้นให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งจากการขนส่งหรือ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลือกสถานที่จัดการแข่งขันที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานลม หรือพลังงานที่ยั่งยืนในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมให้ผู้ชมและนักกีฬาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เดินทางหรือใช้รถไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้หรือวัสดุที่รีไซเคิลได้ในงานทั้งหมด การใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชันเพื่อช่วยในการจัดการทรัพยากรและลดการใช้พลังงาน ไปพร้อม ๆ กับการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนและความสำคัญของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้เข้าร่วมงาน SEA Games ทุกคน” นายสรวงศ์ กล่าว
นายสรวงศ์ กล่าวต่ออีกว่า การแข่งขันครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 11 ประเทศ การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย และเผยแพร่ Soft Power ของไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้วางแผนกิจกรรม และการประชาสัมพันธ์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความงดงามของสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อดึงดูดนักกีฬา นักท่องเที่ยว และผู้ติดตามการแข่งขันจากทั่วโลก
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า เรารับนโยบายจากรัฐบาลและนโยบายจากท่านรัฐมนตรี ในการเตรียมความพร้อมทุกๆด้าน โดยเฉพาะเรื่องของนักกีฬา ล่าสุด วันนี้ได้มีการอนุมัติการเก็บตัวฝึกซ้อม 1 ปี เป็นความตั้งใจที่จะทำให้นักกีฬาได้รับค่าตอบแทนได้รับการดูแลตามนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีได้มอบหมาย ในเรื่องสวัสดิการและความเป็นอยู่ รวมถึงเรื่องของการเตรียมสถานที่ต่างๆ ตอนนี้ความคืบหน้า มีการประชุมคณะกรรมการการแข่งขันและอนุมัติในสิ่งที่จำเป็นต่อนักกีฬา เพราะฉะนั้นเชื่อมั่นว่าด้วยนโยบายจากรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการกีฬา จะทำให้การจัดซีเกมส์ในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิมล ศรีวิกรม์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ในฐานะที่ผลักดัน Soft Power Muaythai กล่าวว่า วันนี้เราปักหมุดไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับกีฬาและใช้กีฬาเสริมสร้างหลายอย่าง อาทิ ความสามัคคีวัฒนธรรมในนามของสมาคมกีฬาฯ มีความรู้สึกดีใจและชื่นใจเป็นอย่างยิ่งที่ท่านรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและมาคิกออฟล่วงหน้า พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำให้คนไทยรู้จักนักกีฬามากขึ้น จากวันนี้ไปจนถึงวันแข่งขัน เท่านี้นักกีฬาก็รู้สึกหัวใจพองโต สะท้อนให้เห็นว่าท่านเป็นคนกีฬาและเข้าใจกีฬาอย่างแท้จริง
สำหรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ครั้งนี้ ภายใต้คำขวัญ “Ever Forward” (ก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง) จะมีการจัดแข่งขันทั้งสิ้น 50 ชนิดกีฬา รวม 569 รายการแข่งขัน และกีฬาสาธิต 3 ชนิด และการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ภายใต้คำขวัญ “Create Pride Together” (สร้างความภูมิใจไปด้วยกัน) จะมีการแข่งขันทั้งหมด 20 ชนิดกีฬา ประเทศไทยได้รับเกียรติสำคัญ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 9-20 ธ.ค. 2568 ที่ กรุงเทพฯ, ชลบุรีและสงขลา และจัดกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 20-26 ม.ค. 2569 ที่นครราชสีมา
No comments