Header Ads

กสศ. ผนึกทีมวิจัย ปั้น “สายพานอาชีพ” ให้แรงงานนอกระบบ ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือลดเหลื่อมล้ำ

 กสศ. ผนึกทีมวิจัย ปั้น “สายพานอาชีพ” ให้แรงงานนอกระบบ ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือลดเหลื่อมล้ำ

สร้างสายพานอาชีพสู่ประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. ผนึกกำลังทีมวิจัยประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และ System Change Evaluation ถอดบทเรียนโมเดลการทำงานลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้ ‘การศึกษา’ เป็นเครื่องมือ  การพัฒนาคนเชื่อมโยงมิติเศรษฐกิจ สังคม การเรียนรู้ และศักยภาพชุมชน 

 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ประชากรวัยแรงงานเท่านั้นที่มีความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังเป็นพ่อแม่ของเด็กและเยาวชนที่มีฐานะยากลำบากด้วย การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษารวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำจะนำไปสู่การประกอบอาชีพตามความถนัดและศักยภาพที่จะสามารถทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ 

 

“เยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ เป็นกลุ่มทรัพยากรมนุษย์ที่รายได้ต่ำและอ่อนแอที่สุดในระบบเศรษฐกิจของไทย”

 

การพัฒนาประชากรวัยแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาและรายได้น้อย หากมีการลงทุนพัฒนาอย่างเป็นระบบจะมีมูลค่าสูงมาก จากงานวิจัยของธนาคารโลก พบว่า หากไทยยังมีประชากรที่มีทักษะพื้นฐานชีวิตต่ำ ไทยจะสูญเสียทางมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาลคิดเป็น 20% ของ GDP นอกจากนี้รายได้ของประชากรวัยแรงงานที่มีทักษะพื้นฐานชีวิตต่ำ แตกต่างกันถึง 6,300 บาทต่อเดือน หากไทยมีรูปแบบมาตรการทำงานการพัฒนาประชากรวัยแรงงานที่ดี จะช่วยยกระดับรายได้ให้แก่ประชาชนได้ 

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า กสศ. มุ่งพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบที่ยากจนหรือด้อยโอกาส โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนรู้ที่เสริมพลัง (Empower) สร้างความเชื่อมั่น และที่สำคัญคือ ทำให้กลุ่มเป้าหมายเห็นตนเองเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ และมีศักดิ์ศรีในตนเอง โดยใช้รูปแบบการจัดการศึกษาหรือว่าการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ ให้สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ โดยสร้างการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตและสร้างรายได้เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ก้าวสู่ปีที่ 7 (โครงการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบัน) ที่ดำเนินการมาและยังเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการหาองค์ความรู้และต้นแบบการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้การศึกษาหรือการเรียนรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนที่เชื่อมโยงกับมิติเศรษฐกิจ สังคม การเรียนรู้ และศักยภาพชุมชน สามารถแก้ปัญหาความยากจนตามยุคสมัยได้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย 

 

“เราสามารถสร้างสายพานอาชีพให้ทั้งหมู่บ้านได้ เมื่อเราเข้าไปส่งเสริมการเรียนรู้หรือสร้างอาชีพให้พวกเขาแล้ว เราเห็นคนกลุ่มนี้มีทักษะที่สูงขึ้นและมากกว่าทักษะ คือการสร้างความสัมพันธ์ให้กับชุมชน เช่น เราไปส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ให้กับชุมชนหนึ่ง เราพบว่ามีคนเป็นโรคซึมเศร้า พอเราใช้เรื่องของทักษะอาชีพเข้าไปส่งเสริมความสามารถที่เขามีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ก็พบว่าสิ่งที่ได้มากกว่าการสร้างรายได้ให้เขาคือช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจให้บุคคลนั้นหายจากการเป็นซึมเศร้าได้ค่ะ และพบว่าชุมชนมีการเกื้อหนุนกันไม่ต่างคนต่างอยู่ ทุกคนหันมาทำงานด้วยกัน ลดปัญหาอัตราการฆ่าตัวตายลงในชุมชนด้วย ส่งต่อโอกาสให้ลูกหลานได้เข้าไปเรียนหนังสือ ตัวอย่างแบบนี้มันทำให้เห็นว่าการที่เราไปส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ไม่ได้มอบแค่เรื่องของทักษะ หรือว่าการศึกษาเท่านั้น แต่มันได้อย่างอื่นที่ที่สามารถต่อยอได้หลายๆ มิติด้วยแต่เหมือนเป็นประตูไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้ด้วยค่ะ” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว 

นายเศรษฐภูมิ บัวทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนทางสังคม วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนข้อค้นพบสำคัญ รวมถึงการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมจากการลงทุนในโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System Change) ของหน่วยจัดการเรียนรู้ต้นแบบซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรณีศึกษาในฐานะที่ทำงานต่อเนื่องกับ กสศ. มากกว่า 1 ปี ผ่านเครื่องมือวิจัย Social Return of Investment (SROI) ซึ่งปีนี้ กสศ. ก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศน์แห่งการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทของทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสที่ที่จะได้ร่วมขับเคลื่อนไปกับ กสศ. เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

 

“ด้วยรูปแบบกลไกการเปลี่ยนผ่านของโลกยุคปัจจุบัน สังคมไทยก็เช่นกันมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว และด้วยมิติของความต้องการของผู้เรียนหรือมิติปัญหาสังคมแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันออกไป ทำให้การทำวิจัยและประเมินผลครั้งนี้ต้องการที่จะหาคำตอบว่ามิติการขับเคลื่อนของ กสศ. ต่อโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานให้กับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมุ่งไปสู่กลไกลการขับเคลื่อนขยายโอกาสในการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมั่นใจว่า สิ่งที่ กสศ. ได้ดำเนินการหลายปีต่อเนื่องจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้แน่นอน” 

ดร.นฤมล นิราทร ประธานกรรมการ มูลนิธิ เอ.ที.ดี. เพื่อนผู้ยากไร้และประธานอนุกรรมการวิชาการจัดงานสมัชชากรุงเทพ และกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และคณะทำงานกำกับทิศทางโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างน่าเห็นใจ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างทางด้านเศรษฐกิจและสังคมซับซ้อนทำให้พวกเขาตกอยู่ในสถานะแบบนี้ การได้รับการส่งเสริมโอกาสด้านการเรียนรู้และเสริมสร้างศักยภาพจะทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอดในสังคม ในฐานะที่ได้ทำงานกับกลุ่มแรงงานนอกระบบเจาะจงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าพวกเขาต้องการได้รับการส่งเสริมด้านการเรียนรู้และสร้างอาชีพเพื่อพึ่งพาตนเอง หรือสร้างรายได้เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน จึงอยากให้ กสศ. ดึงกลุ่มแรงงานนอกระบบในพื้นที่ กทม. เข้ามาอยู่ในสมการการขับเคลื่อนของการส่งเสริมโอกาสร่วมกับกลุ่มแรงงานนอกระบบในจังหวัดอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค

 

“อยากเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาออกแบบการทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานครให้เป็นไปในลักษณะการทำงานแบบเชิงลึก ระยะยาวและต่อเนื่อง อยากให้มีโครงการลักษณะนี้เพราะจะส่งผลดีต่อผู้คนชุมชนในกรุงเทพฯ เท่าที่ลงพื้นที่ไปสำรวจหลายพื้นที่ไม่ได้จัดตั้งให้เป็นหลักเป็นแหล่งไม่มีกรรมการชุมชน เช่น ชุมชนหลังวัด ดังนั้นจึงอยากทำให้คนกลุ่มนี้มีพื้นที่ในการเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้และมีงานทำไปสู่การประกอบอาชีพตามความถนัดและศักยภาพที่พึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้” ดร.นฤมล กล่าว




No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.